มสธ. ขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส  ห่างไกลทุจริต คอร์รัปชั่น (ITA STOU)      

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) โดยผลการประเมิน ITA ของมหาวิทยาลัย ได้ระดับ A ซึ่งหมายถึง สามารถดำเนินการได้ค่อนข้างครบถ้วนและมีแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์การประเมิน

ความเป็นมาเกี่ยวกับ ITA

จากสถิติรายงานผลการบริหารราชการแผ่นดินและการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่ามีข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบในการรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้ริเริ่มนำเครื่องมือ “ดัชนีวัดความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index of the Public Agencies)” มาทดลองใช้กับหน่วยงานภาครัฐกลุ่มนำร่อง ต่อมาได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2556 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้พัฒนาระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการสำรวจเกี่ยวกับการดำเนินงานและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามหลักจรรยาบรรณการบริหารงานอย่างมีจริยธรรม คุณธรรมและความโปร่งใส ตลอดจนการจ่ายหรือเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเข้าร่วมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

มสธ. ได้เข้าร่วมโครงการ ITA โดยมีกองกฏหมาย สำนักงานอธิการบดี เป็หน่วยงานรับผิดชอบหลัก

สำหรับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้เข้าร่วมโครงการ ITA โดยมีกองกฏหมาย สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินภารกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ ITA ของมสธ. ออกประกาศนโยบายคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ มสธ. แต่งตั้งผู้ประสานงานหรือตัวแทนประจำหน่วยงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการประเมิน ITA จัดทำคู่มือการประเมิน ITA จัดทำแผนความเสี่ยงและประเมินความเสี่ยงการทุจริตในการปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัย จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน การทุจริตและประพฤติมิชอบของมหาวิทยาลัยและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนฯ รวมถึงจัดทำรายงานประจำปี

ผลการตรวจประเมิน ITA ของ มสธ. ได้ระดับ A

ผลการตรวจประเมิน ITA ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2564 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เข้าร่วมรับการประเมิน ITA ในทุกปี และมีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

ผลการตรวจประเมิน ITA ของ มสธ.

จากตารางสรุปผลการประเมิน ITA ของมหาวิทยาลัยพบว่า ผลคะแนนที่ได้อยู่ในระดับ A หมายถึง หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ค่อนข้างครบถ้วนและมีแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์การประเมิน ITA โดยมีบางส่วนที่ต้องปรับปรุงหรือเปิดเผยข้อมูล จากรายงานผลคะแนนการประเมินหน่วยงานของ มสธ. ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำซึ่งควรนำมาพิจารณาและแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถยกระดับการดำเนินงานตามหลักคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างสัมฤทธิผล เป็นการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและความไว้วางใจแก่สาธารณชนได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญที่ควรมีการแก้ไขปรับปรุงและบริหารจัดการในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ดังนี้

  1. ประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของหน่วยงานให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ โดยการให้สอบถาม ทักท้วงและร้องเรียนได้ พร้อมทั้งเพิ่มกลไกกำกับให้หน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและไม่บิดเบือนวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
  2. แก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานอย่างจริงจัง หากพบการทุจริตให้สร้างความมั่นใจในการจัดการการทุจริตพร้อมทั้งปกป้องผู้กระทำการร้องเรียน
  3. เพิ่มมาตรการกำกับดูแล ติดตามและตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของราชการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว กลุ่มหรือพวกพ้อง
  4. เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการ ผู้มาติดต่อหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการของหน่วยงาน
  5. พึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤติกรรมการมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานและให้ความสำคัญกับงานมากกว่าธุระส่วนตัว
  6. เพิ่มความพร้อมรับผิดชอบหากเกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของบุคลากรในหน่วยงานให้มากขึ้น
  7. เพิ่มกลไกกำกับหน่วยงานให้มีการจัดซื้อ จัดจ้าง/จัดหาพัสดุ และการตรวจรับพัสดุที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง
  8. เพิ่มการปรับปรุงวิธีการและขั้นตอนการดำเนินงาน/การให้บริการให้ดีขึ้น
  9. เพิ่มการตระหนักของผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในการให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง
  10. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานที่เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อนและเพิ่มช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวข้างต้น บุคลากรทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องตระหนักรู้ ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายโดยยึดหลักจริยธรรม คุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยกระดับค่าคะแนนดัชนีในการประเมิน ITA ของหน่วยงานให้สูงขึ้น และนำไปสู่การขับเคลื่อนมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับสากล

เอกสารอ้างอิง

  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ หน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564. รายงานการประชุมที่ประชุมผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 14/2564 (นัดพิเศษ) วันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564
  • https://legalaffairs.stou.ac.th/ita/
  • ttps://www.fpiautoparts.com/ir/the-anti-corruption-policy_th/

เรียบเรียงโดย   

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ  

[sc name=”libinfoservice”][/sc]

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น