นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต บทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นบทเพลงที่มีบทบาทสำคัญมากสำหรับการพยุงความรู้สึกและเข้าถึงจิตใจของคนไทยทุกคน ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยได้รู้จักเพลงสรรเสริญพระบารมีมากยิ่งขึ้น |
เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นบทเพลงเพื่อสรรเสริญพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติประจำพระอิสริยยศ เป็น ตำแหน่งของเพลง ใช้บรรเลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และผู้แทนพระองค์เท่านั้น |
เพลงสรรเสริญพระบารมี มีชื่อหลายฉบับด้วยกัน เพลงแรกเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีไทย ที่ใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมาหลายฉบับ สำหรับบทเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบัน ประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky) นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย |
สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงแต่งเนื้อร้องใส่กับทำนองเพลงของปโยตร์ สชูโรฟฟสกี เพลงสรรเสริญพระบารมีได้เปิดแสดงครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ ปีชวด หรือ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2431 ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่หน้าศาลากรมยุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) บทเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พ.ศ. 2435 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานกล่องยานัตถุ์ทำด้วยเงิน สลักพระปรมาภิไธยให้แก่ยโปตร์ สชูโรฟสกี |
เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับปัจจุบัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีเนื้อร้องอยู่ 5 สำนวน ทุกสำนวนใช้ทำนองเดียว ความหมายเดิมของเนื้อร้องคือ เป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติสำหรับงานรับเสด็จ แต่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อร้องให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ในแต่ละครั้งได้ กล่าวคือ เนื้อร้องเปลี่ยนได้แต่ทำนองไม่ได้เปลี่ยน |
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกปรับให้มีเนื้อร้องเพียงสำนวนเดียว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปโดยเปลี่ยนเนื้อร้องวรรคสุดท้ายโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จาก ฉะนี้ เป็น ไชโย เพราะคำว่า ฉะนี้ เมื่อขับร้องใส่ทำนองแล้วฟังเป็น ชะนี |
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจุบัน เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีใช้เพียงเนื้อเดียวไม่เปลี่ยน ส่วนทำนองเพลงใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2431 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 128 ปี ผ่านการบรรเลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา 5 พระองค์ |
ในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีความเข้าใจว่า ประเทศที่เจริญแล้ว ใช้เพลงชาติสั้นๆ ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนา ใช้เพลงชาติยาวๆ โดยเปรียบเทียบระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีกับเพลงชาติอังกฤษ จึงมีดำริให้ตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้นลง เรียกกันหลายชื่อว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีสังเขป เพลงสรรเสริญตัด หรือเพลงสรรเสริญยิเก สำหรับเนื้อเพลงยิเกนั้น จะลงท้ายด้วย ชโย |
เนื่องจากเพลงสรรเสริญพระบารมีวรรคสุดท้ายจบลงด้วยคำว่า ไชโย ซึ่งเหมือนกับเนื้อร้องเพลงชาติไทย ที่จบคำท้ายด้วยไชโยเหมือนกัน ฝรั่งที่รู้จักประเทศไทยใหม่ๆ จะนิยมเหมาเอาว่าเป็นวัฒนธรรม ไชโย |