|
การขับลำนำหรือการขับร้องของคนมอญ เป็นการประดิษฐ์คำร้องให้มีท่วงทำนอง ลีลา จังหวะ และระดับเสียงสูงต่ำ หนักเบา โดยมีการแต่งเนื้อร้องที่มีความหมาย และการขับร้องมักเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของของผู้ขับร้องที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือต่อผู้คนที่รับฟังอยู่ เป็นการแสดงภูมิปัญญาของผู้ขับร้อง ปฏิภาณไหวพริบในการขับร้องเพลงโต้ตอบกันตามลักษณะของเพลงปฏิพากย์ |
การขับลำนำของคนมอญมีทั้งที่เป็นคำกลอนที่ถูกต้องตามแบบแผนฉันทลักษณ์มอญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำขับร้องเพลงทะแยมอญ และคำทำขวัญต่างๆ และการขับลำนำที่ไม่ยึดถือสัมผัสคล้องจองของถ้อยคำแต่ถือจังหวะของถ้อยคำและระดับเสียงสูงต่ำเป็นหลัก ซึ่งได้แก่เพลงกล่อมเด็ก และเพลงมอญร้องไห้ |
เพลงมอญและการขับร้องของคนมอญในแต่ละชุมชนอาจเหมือนกัน แตกต่างกัน หรือคล้ายคลึงกันบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งการขับลำนำหรือการขับร้องของคนมอญได้ 3 ประเภท คือ การขับลำนำที่ไม่มีดนตรีบรรเลงและไม่มีการร่ายรำ การขับลำนำที่มีดนตรีบรรเลงประกอบแต่ไม่มีการร่ายรำ และการขับลำนำที่มีดนตรีบรรเลงประกอบและมีการร่ายรำ |
|