ตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในปีพุทธศักราช 2521 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยได้ใช้ระบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลแบบไม่มีชั้นเรียน ศึกษาโดยผ่านสื่อการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อแบบออนไลน์ นักศึกษาและผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำกัดเพศ วัยและอาชีพ มีระบบการจัดสอบโดยใช้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำจังหวัดทั่วประเทศเป็นสนามสอบของมหาวิทยาลัย ซึ่งอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาและผู้เรียนสามารถเข้าสอบได้ตามความสะดวกในการเดินทางไปสนามสอบ
ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ประสบกับวิกฤตสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้มสธ. ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนตามที่กำหนดได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศ โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญคือ ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการกำหนดมาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 มสธ.จึงมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามประกาศและมาตรการต่างๆ ตามที่ภาครัฐกำหนด จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและยังคาดการณ์ไม่ได้ การสอบซ่อมภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 และการสอบโครงการสัมฤทธิบัตร รุ่นที่ 109 ณ สนามสอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาในการสำเร็จการศึกษาและก้าวหน้าในการศึกษาไปตามกำหนดตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล หรือการสอบที่ไม่ขัดแย้งกับประกาศและมาตรการต่าง ๆ ตามที่ภาครัฐกำหนดซึ่งเป็นระบบการสอบที่มีมาตรฐาน มีการกำกับ ติดตามและป้องกันการทุจริต โดยกำหนดให้การสอบซ่อม ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 และการสอบโครงการสัมฤทธิบัตร รุ่นที่ 109 เปลี่ยนมาใช้ระบบ ”การสอบออนไลน์” โดยมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ได้แก่ การให้ความรู้แก่นักศึกษาในการทำข้อสอบแบบออนไลน์ การแก้ปัญหาทั้งก่อน ระหว่างและหลังการสอบ การอำนวยความสะดวกทางเทคนิค รวมทั้งการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตแก่นักศึกษาผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้นักศึกษาต้องมีอุปกรณ์ประกอบการสอบออนไลน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เครื่องคอมพิวเตอร์ PC หรือ Notebook หรือ Tablet ที่มีกล้องถ่ายภาพ หรือ WebCam พร้อมติดตั้ง Internet Wifi ความเร็วอย่างน้อย 4Mbps หรือ
- โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตที่มีกล้อง พร้อม Internet ชนิด 3G ขึ้นไป
การจัดสอบออนไลน์ในครั้งนี้ใช้ระบบ Moodle และ WebEx โดยมหาวิทยาลัยจะมีการให้ความรู้ วิธีการ ขั้นตอนการเข้าสอบและทำข้อสอบออนไลน์ และจัดให้มีการทดสอบระบบร่วมกับเครื่องมืออุปกรณ์ของนักศึกษาก่อนวันสอบจริง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการสอบรวมทั้งป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้นักศึกษาไม่ต้องแสดงความจำนงใด ๆ ในการเข้าสอบออนไลน์ ส่วนนักศึกษาที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าสอบออนไลน์ได้ต้องแจ้งความจำนงตามแบบฟอร์มที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากไม่แจ้งตามเวลาที่กำหนดจะถือเป็นการสอบออนไลน์ ทั้งนี้การสอบออนไลน์ครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 กำหนดการตามตารางสอบเดิม แต่ปรับเวลาสอบเป็นคาบละ 2 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนนักศึกษาที่แจ้งความประสงค์ไม่สามารถเข้าสอบออนไลน์ในครั้งนี้ได้เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ เช่น นักศึกษาผู้ต้องขังและผู้พิการ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสอบในระบบเดิมตามสนามสอบที่มหาวิทยาลัยกำหนด
การสอบออนไลน์ครั้งนี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ของการให้บริการการศึกษาที่จะทำให้มหาวิทยาลัยก้าวไปสู่การเป็น “Smart University” ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาและผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการจัดสอบออนไลน์ในครั้งนี้อาจจะพบปัญหาและอุปสรรคหลาย ๆ ด้านก็ตาม ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องร่วมแรงร่วมมือกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อนำมาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยทางไกลของปวงชนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
หน่วยจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7467-8
waraporn.yon@stou.ac.th