10 ธันวาคม 2475 วันนี้เมื่อ 88 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย นับเป็นการพระราชทานพระราชอำนาจแก่ปวงชนชาวไทยโดยสมบูรณ์ เพื่อแทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” ภายหลังจากที่มีการปฏิวัติ โดยคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
รัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศ มีทั้งหมด 68 มาตรา แบ่งออกเป็นบททั่วไป หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 ศาล หมวด 6 บทสุดท้าย หมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล
โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญย่อหน้าสุดท้าย มีข้อความสำคัญที่แสดงถึงความปรารถนาของพระองค์ว่า
“ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเราวันนี้ จะเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณวิบูลราศรี แก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทหาร พลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ให้ยืนยงอยู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ..”
อ่านฉบับเต็ม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
สามารถเยี่ยมชมนิทรรศการเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ได้ที่ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 หรือรับชมในรูปแบบออนไลน์ได้ที่ พระปกเกล้าศึกษา