26 สิงหาคม 2461 พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี การสมรสครั้งแรกในสยาม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น“พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม”

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงฉายในวันอภิเษกสมรส

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

พระราชพิธีอภิเษกสมรส การผสานระหว่างสองวัฒนธรรม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ได้มีการนำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ คือ การตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจ เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาต่อกันระหว่างคู่สมรส ซึ่งตามธรรมเนียมของคริสตศาสนิกชนมีบาทหลวงเป็นผู้ถาม ในพระราชพิธีนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกโท พระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ (ลออ ไกรฤกษ์) สมุหพระนิติศาสตร์ เป็นผู้ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถาม

ทูลถาม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ว่า

“ฝ่าพระบาททรงตั้งพระหฤทัยที่จะทรงรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นพระชายาเพื่อทรงถนอมทะนุบำรุงด้วยความเสน่หาและทรงพระเมตตากรุณาสืบไปจนตลอดนั้น ฤา”

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น”

แล้วทูลถาม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ว่า

“ท่านตั้งหฤทัยที่จะมอบองค์ท่านเป็นพระชายาแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ด้วยความเสน่หาจงรักสมัครจะปฏิบัติอยู่ในพระโอวาทแห่งพระสามี สืบไปจนตลอดนั้น ฤา”

หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น”

เมื่อเสร็จการพิธีแบบตะวันตกแล้ว เป็นพิธีการรดน้ำสังข์ตามประเพณีวัฒนธรรมแบบของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏและทรงเจิมที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ตามลำดับ และพระราชทานเข็มพระนามาภิไธยประดับเพชรแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ สร้อยพระศอมีวัชรและอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อภายใต้พระมหามงกุฎประดับเพชรล้วนกับหีบหมากทองคำแก่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เป็นทุน 160,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 20,000 บาท ซึ่งในสกุลเงินโบราณที่เป็นน้ำหนักเหรียญ (1 ชั่ง = 80 บาท)

การจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ “ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” เป็นองค์ผู้สู่ขอตกแต่ง และทรงเป็นประธาน

นับว่าเป็น “ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์” สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

นอกจากนี้ พระราชพิธีอภิเษกสมรสยังมีพิธีการสำคัญเกิดขึ้น คือ พิธีลอดซุ้มกระบี่ โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงให้สัมภาษณ์ในไว้หนังสือ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า ดังนี้ “…ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พระราชทานสมรสแบบฝรั่งที่พระราชวังบางปะอิน มีพิธีลอดกระบี่ซึ่งเป็นของเก๋ในสมัยรัชกาลที่ 6 นายทหารยืนรายทางสองแถวชักดาบแล้วคู่สมรสควงกันลอดกระบี่..” (หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์, สัมภาษณ์ 5 ตุลาคม 2536: น.74)

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น “ของชำรวยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม”

กรอบรายการเครื่องเสวยในงานอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน

หลังจากพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ได้เสด็จฯ มาประทับที่วังศุโขทัย ซึ่งเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ ความรักของทั้งสองพระองค์ ยั่งยืนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงดูแลกันและกัน ทรงอยู่เคียงข้างกันเสมอทั้งยามทุกข์และสุข ตามคำสัตย์สัญญาที่ให้ไว้ตอนอภิเษกสมรสว่าจะรักและดูแลอยู่เคียงคู่กันตลอดไป ถือเป็นแบบอย่างความรักที่ซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียวตลอดชีวิต

นิทรรศการออนไลน์

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ; บรรณาธิการ, สุวิทย์ ไพทยวัฒน์. (2538). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากข้อมูล ประวัติศาสตร์บอกเล่า. มหาวิทยาลัย.

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (8 กรกฎาคม 2562). การอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. https://kingprajadhipokmuseum.com/en/article/view/19

เรียบเรียงโดย

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ