สำนักบรรณสารสนเทศ จัดกิจกรรมเผยแพร่สารสนเทศท้องถิ่นนนทบุรีศึกษา งาน ทัศนารามัญ@มสธ. วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ณ ห้องพระปกเกล้า อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อเผยแพร่ผลผลิตของโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนพหุปัญญา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธานในพิธีเปิด และมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทางไกล กล่าวปิดงาน กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การเล่าเรื่องหนังสือ วิถีมอญในไทย พินิจหัตถศิลป์มอญ และเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด โดย นายพิศาล บุญผูก ผู้เขียนเนื้อหาหนังสือ และนางวรนุช สุนทรวินิต บรรณาธิการหนังสือทั้ง 3 เล่ม การสาธิตการรำมอญรำ การสาธิตการเล่นทะแยมอญ และฐานความรู้ต่างๆ ที่จัดแสดงให้ความรู้ ประกอบด้วย
“หนังสือทรงคุณค่า ขุมปัญญานนทบุรี” แนะนำหนังสือ จัดพิมพ์และเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2565
ได้แก่ หนังสือ “วิถีมอญในไทย” และหนังสือ AR “พินิจหัตถศิลป์มอญ” “วิจิตรศิลป์ดินเผาเกาะเกร็ด” หนังสือหายากทรงคุณค่ารูปแบบ Flipbook จำนวน 150 ชื่อเรื่อง และหนังสือผลผลิตภายใต้โครงการนนทบุรีศึกษาอื่น ๆ
“อ่าน รู้ ดู ฟัง นิทรรศน์รามัญวิถี” เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนในนนทบุรีและที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนนทบุรี ผ่านนิทรรศการเคลื่อนที่ นิทรรศการออนไลน์ และรายการเสียงออนไลน์ เรื่องเล่าจากท้องถิ่น
“เปิดประสบการณ์ ท่องโลกพุทธศิลป์ พุทธจิตรกรรมล้ำค่านนทบุรี” เรื่องราวความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาจากพุทธจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในรูปแบบสื่อนำชมเสมือนจริง VR (Virtual reality) จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ธุดงควัตร : พุทธจิตรกรรมอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส พุทธประวัติ พุทธจิตรกรรม อุโบสถวัดเตย และทศชาติชาดก พุทธจิตรกรรมล้ำค่า อุโบสถวัดเกาะพญาเจ่งวัดเกาะพญาเจ่ง
“สื่อหรรษา ตามหารามัญศิลป์ถิ่นเมืองนนท์” ฐานความรู้ สนุกและได้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดและเครื่องหัตถศิลป์มอญผ่านเกมส์ AR (Augmented Reality) ตามหาเครื่องปั้นดินเผานนทบุรีและเครื่อหัตถศิลป์มอญ และเกมส์ เก็บ..ก่อน..ตก
“ชีวิต ชีวา รามัญสาธิต” แนะนำและสาธิต วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญามอญจากชุมชนมอญต่างๆ อาทิ สไบปัก จากชุมชนมอญหนองดู่ จ.ลำพูน สไบปัก และขนมในเทศกาลวันตรุษ จาก ชุมชนมอญราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย ลูกหนู จาก ชุมชนมอญบางพัง หนังสือภาษามอญ จากองค์การบริหารตำบลบางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด และอาหารในเทศกาลงานบุญ และขนมพื้นบ้าน และสาธิตการแกะสลักลายวิจิตรบนเครื่องปั้นดินเผา สาธิตและฝึกการสานเข่งปลาทู จากชุมชนมอญเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เครื่องปั้นดินเผาแนวประยุกต์ จาก ชุมชนมอญนครสวรรค์ จ. นครสวรรค์ เครื่องมือเดินเรือ จากชุมชนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ และแกงข้าวตัง จากชุมชนมอญสามโคก จ. ปทุมธานี การสาธิตการละเล่นทะแยมอญ จาก ชุมชนมอญสมุทรสาคร วารสารเสียงรามัญ จาก ชุมชนมอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ อาหารพื้นบ้านมอญ และอาหารจากผักสมุนไพร จากชุมชนมอญราชบุรี คัมภีร์ใบลานภาษามอญ จากพิพิธภัณฑ์วัดคงคาราม และผ้าทอมอญ จากพิพิธภัณฑ์วัดม่วง จังหวัดราชบุรี เป็นต้น