“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 54 ว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 กำหนดหมุดหมายให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคตโดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัยสอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ตลอด จากการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยใน พ.ศ. 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.08 ปี อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี 2579 อยู่ที่ 12.5 ปี หากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนด รัฐบาลต้องมีการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชากรไทยได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นในด้านต่างๆ เช่น 1. จัดทำระบบรับและติดตามนักเรียนเข้ารับการศึกษาที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและแก้ไขได้ทัน โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการยืนยันข้อมูลที่ทุกภาคส่วนและผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการติดตามเด็กให้เข้ารับการศึกษาโดยโรงเรียนต้องติดตามเด็กในพื้นที่ตามรายชื่อที่โรงเรียนรับผิดชอบให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และส่งเสริมให้ศึกษาต่อถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี 2. ผลักดันพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่มีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กในพื้นที่ของตนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับได้เข้าเรียนในสถานศึกษา 3. ผลักดันพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่มีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กในพื้นที่ของตนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับได้เข้าเรียนในสถานศึกษา 4. จัดการศึกษาเชิงรุกให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรวัยแรงงานในสถาน ประกอบการ และผู้เรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาตลอดจนสนับสนุนจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติให้กลับเข้ารับการศึกษามากที่สุด 5. พัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้ สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตและความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย และเน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดแรงงาน อาทิ สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ที่บ้าน (Home School) โดยอาจดำเนินการในรูปแบบ Online 6. เร่งพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากเป็นระบบที่เอื้อให้คนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตลอดตามความสะดวกและความจำป็นของชีวิต
หนังสือจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย มีการนำเสนอเนื้อหาที่อ่านและทำความเข้าใจง่ายโดยแสดงในรูปตารางสถิติ แจกแจงจำนวน และค่าเฉลี่ย นอกจากด้านการออกแบบที่ทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจง่าย เนื้อหาภายในยังมีประโยชน์ทั้งทางด้านวิชาการ และบุคคลทั่วไปสามารถใช้ประกอบการวางแผน กำหนดนโยบายการศึกษาหรือใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านการศึกษาของรัฐบาลได้ด้วยค่ะ
หากสนใจหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3TZcd75
เรียบเรียงโดย: ณัฐพร จุ้ยเดช, ฝ่ายเทคนิค