บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.16 “นางนพมาศ”

เทศกาลลอยกระทงเป็นเทศกาลที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายนมีจุดมุ่งหมายเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอขมาพระแม่คงคาที่เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ รวมถึงการประกวดนางนพมาศ สตรีที่ต้องมาคู่กับเทศกาลวันลอยกระทงอย่างขาดไม่ได้  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

นางนพมาศเกี่ยวข้องอะไรกับวันลอยกระทง

นางนพมาศตามที่เรารู้จักกันคือผู้หญิงในสมัยสุโขทัยที่เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นการทำกระทงจนกลายเป็นต้นแบบกระทงที่เราลอยกันในปัจจุบัน ซึ่งชุดความรู้นี้มาจากวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย นั่นคือวรรณกรรมเรื่อง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เนื้อหาภายในเรื่องเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการกำเนิดของมนุษย์ เชื้อชาติ ภาษา อาณาจักร สรรเสริญพระร่วง เป็นต้น และจึงเริ่มเล่าประวัติส่วนตัวของนางนพมาศ ว่าเกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดารับราชการเป็นปุโรหิตในราชสำนักกรุงสุโขทัย เติบโตมาอย่างมีการศึกษาเป็นผู้ชำนาญทั้งศาสตร์และศิลป์ และได้ถวายตัวไปเป็นสนมพระร่วง ในพระราชพิธีจองเปรียงนางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยรูปทรงดอกกระมุทที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และผลไม้จนงามแปลกตากว่าของผู้ใดทำให้ถูกใจพระร่วงกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยจึงให้กาลสืบไปภายหน้าพิธีจองเปรียงนี้ให้ทำโคมลอยเช่นนางนพมาศสืบไป และในกาลภายหลังนางนพมาศก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกของพระร่วง กระทงที่เราลอยใน ปัจจุปันนี้จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์จากนางนพมาศจึงทำให้นางมีชื่อเสียงเลื่องลือจนถึงกาลปัจจุบัน  

https://youtu.be/NtuVC_L5VXA
รับชมรายการบรรณสารติดเล่าผ่านช่องทาง YouTube

ตัวตนในประวัติศาสตร์ของนางนพมาศ 

ส่วนเรื่องที่ว่านางนพมาศมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่นั้นก็ต้องพิจารณากันจากวรรณกรรมเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี่แหละครับเพราะเรื่องราวของนางนพมาศบังเกิดขึ้นจากวรรรณกรรมที่เปรียบดังไดอารี่ที่นางนพมาศบันทึกไว้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยพระนิพนธ์คำนำหนังสือเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอสมุดวชิรญาณ ในพระนิพนธ์อธิบายว่าเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2-3 ไม่เก่าไปกว่านั้น หรือถ้าเอาสำนวนไปเทียบกับหนังสือที่เชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่แต่งในยุคสุโขทัยหรือเทียบกับหนังสือที่แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็จะเห็นได้ว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้แต่งทีหลังและใหม่กว่า อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงชาติฝรั่งมะริกัน หรืออเมริกัน ซึ่งเป็นชาติที่มีมาหลังสมัยสุโขทัย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่าพระองค์ไม่เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของนางนพมาศ พระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่าเคยทอดพระเนตรต้นฉบับ แต่ถึงจะเป็นต้นฉบับก็เป็นหนังสือแต่งใหม่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ท่านที่ศึกษาโบราณคดีมาก่อนอันมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และกรมหลวงวงษาธิราสนิท ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ น่าจะมีเรื่องเดิมอยู่บ้างแต่น่าจะขาดหายไปจึงมีการแต่งเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ 
นอกจากพระนิพนธ์คำนำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้วก็ยังมีเรื่องที่ข้าราชการที่อยู่มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เคยกราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ 5 ว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกเข้าไปด้วย จากกรณีที่ยกมาเล่านี้หลายส่วนก็ทำให้เห็นว่าเรื่องของนางนพมาศนั้นถูกแต่งขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตน์โกสินทร์ไม่ได้แต่งขึ้นโดยนางนพมาศตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย 

นางนพมาศประดิษฐ์กระทง

อีกประเด็นหนึ่งที่กล่าวว่านางเป็นผู้ประดิษฐ์โคมลอยและกลายเป็นกระทงดังทุกวันนี้ 
แต่คำว่าลอยกระทงนั้นกลับไม่ปรากฏในเอกสารหรือจารึกใดในสมัยสุโขทัยเลย จะมีที่ใกล้เคียงก็คือ คำว่าเผาเทียนเล่นไฟ ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ได้อธิบายว่า คำว่าเผาเทียนเล่นไฟนี้ จะเกี่ยวข้องกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะของการจุดธูปเทียนบูชา เป็นต้น หรือเป็นเรื่องของการละเล่นเช่น ดอกไม้ไฟ ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับประเพณีการลอยกระทงแต่อย่างใด แล้วนางนพมาศจะประดิษฐ์กระทงได้อย่างไร

ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ 

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ จากที่ได้กล่าวไปว่านางนพมาศได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ซึ่งศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้พูดถึงตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไว้ว่าตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ไม่ใช่ตำแหน่งในราชสำนักสุโขทัยเพราะเราไม่เคยพบชื่อ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อันเป็นตำแหน่งของสนมเอกที่พระร่วงเจ้า พระราชทานให้แก่นางนพมาศ ตามที่ระบุอยู่ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในจารึกหลักใด ๆ ของวัฒนธรรมสุโขทัย และปริมณฑลเลย แต่ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงของพระบรมไตรโลกนาถว่าชื่อตำแหน่งหนึ่งใน 4 พระสนมเอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา  

จากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าสุโขทัยไม่มีลอยกระทง ไม่มีตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และวรรณคดีเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไม่ได้แต่งในสมัยสุโขทัย ก็เลยทำให้นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น กลายเป็นเพียงนางในวรรณคดีที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด 

สุดท้ายแล้วเรื่องราวของนางนพมาศจะปรากฏอยู่จริงในประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยหรือไม่เราก็ไม่อาจทราบได้แต่ปัจจุบันชื่อของนางกลายมาเป็นเวทีประกวดในวันลอยกระทงบางเวทีที่จัดประกวดก็ก่อให้เกิดการรณรงค์และตระหนักรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมไทยไปในทิศทางที่ดีได้

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.16 “นางนพมาศ”ผ่านช่องทาง SoundCloud

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.16 “นางนพมาศ”ผ่านช่องทาง Facebook


  

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2530). ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม

วิยะดา ทองมิตร. (2564). พระราชพิธี 12 เดือน : ปฏิทินชีวิตของชาวสยามประเทศ : ภาพลายรดน้ำและภาพลายกำมะลอภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมืองโบราณ. นนทบุรี : เมืองโบราณ.

ศิลปวัฒนธรรม. (2564). ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_71295

มติชนสุดสัปดาห์. (2559). ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ของนางนพมาศ ไม่ใช่ตำแหน่งของราชสำนักสุโขทัย. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_71295