ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เป็นผู้นำทางความคิดและสร้างนวัตกรรมการศึกษาไทย ที่ได้รับรางวัลดีเด่นและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ท่านมีผลงานด้านวิชาการ ทั้งงานวิจัย ตำรา บทความ เอกสารบรรยาย และปาฐกถาต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานอันทรงคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร
- เส้นทางสู่เกียรติศักดิ์นักบริหารการศึกษา
- ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กับการอุดมศึกษา
- ก่อตั้ง มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดด้านการศึกษาทางไกล
- หยั่งรากแห่งความมั่นคงของมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ
- บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย
- “นวัตกรรมวิจิตร” ผลงานจากแนวคิดสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาในวัยเด็ก เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาช้ากว่าเด็กอื่น ๆ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงและบ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน จึงต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอนหนังสือให้ด้วยตนเอง ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง และโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ตามลำดับ ซึ่งจากการเรียนหนังสือที่บ้านทำให้รู้หนังสือก้าวหน้ามากกว่าเพื่อนร่วมชั้น จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องและผู้ช่วยครูมาตลอด เป็นส่วนที่หล่อหลอมรากฐานแห่งความเป็นผู้นำและความเป็นครู
สำหรับ ชีวิตในวัยเด็กต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความลำบาก เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ทำให้ได้รับหน้าที่เสาหลักของครอบครัว ดูแลงานที่บ้าน ดูแลน้อง และดูแลร้านขายของชำ พร้อมกับการเรียนหนังสือ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ได้ศึกษาต่อสายศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพราะชอบวิชาภาษาไทย ในระยะแรก ท่านมีปัญหาวิชาภาษาอังกฤษสอบได้คะแนนอันดับสุดท้ายในชั้นเรียน แต่ด้วยความพากเพียร จึงขวนขวายเรียนพิเศษจนสามารถสอบวิชาอังกฤษได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และยังหารายได้พิเศษระหว่างเรียนด้วยการรับสอนพิเศษตามบ้าน ทำให้ท่านสั่งสมความสามารถในการสอนหนังสือตั้งแต่ยังวัยเยาว์ ซึ่งจากอุปสรรคในวัยเด็กนั้นหล่อหลอมให้ท่านเป็นคนแข็งแกร่ง และเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้รวดเร็ว และตัดสินใจแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
“…นอกจากเรื่องการชินกับการทํางานหนัก ต่อสู้กับชีวิตมาตลอดจนมีความมั่นใจว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถ ถ้าเราสู้ชีวิตและขอแค่ทําทุกอย่างให้ดีสุดไม่ว่าจะทําอะไรแล้ว…” (อมรวิชช์ นาครทรรพ, 2558)
หลังจากการศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกการสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยทุนของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพครู และสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนี้
- พ.ศ. 2502 ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2504 ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2507 ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนจากมูลนิธิฟุลไบรท์
- พ.ศ. 2510 ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนของมหาวิทยาลัย Minnesota
- พ.ศ. 2519 – 2520 หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 19 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
เส้นทางสู่เกียรติศักดิ์นักบริหารการศึกษา
“ผมเป็นครูโดยอาชีพ ผมตั้งใจและรักที่จะเป็นครู ปัจจุบันผมก็ยังไม่ได้หยุดสอน แต่ผมก็มีความสุข สนุกกับการทำงานตรงจุดนี้ ผมไม่เคยท้อแท้ เพราะเห็นว่างานที่ทำมันจะสร้างความเจริญให้กับสังคม ให้กับการศึกษาไทยได้ และด้วยการศึกษานี่เองจะเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุกอย่าง ดังนั้นถ้าการศึกษาไม่ดี เราก็จะไม่สามารถพัฒนาคนได้” คำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาและความภาคภูมิใจในวิชาชีพครู
เมื่อปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเลขานุการ ดูแลงานธุรการและงานบริหารของคณะ ด้วยความรู้ความสามารถในการบริหารและการแก้ปัญหาทางการศึกษา จึงได้รับดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ๆ อาทิ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เลขานุการบริหารมหาวิทยาลัย เลขาธิการมหาวิทยาลัย เลขานุการรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2549 -2551
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กับการอุดมศึกษา
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการศึกษาในหน้าที่สำคัญ ๆ อาทิ การแก้ปัญหาทางการบริหาร ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความรู้ความสามารถและคุณธรรมของผู้นำ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ รองอธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัย รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย
เมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานที่ต้องประสานขอความร่วมมือจากอาจารย์อาวุโส ได้ยึดถือหลักการทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจนสามารถดำเนินงานบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก
เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในขณะอายุยังน้อยในวัยเพียง 40 ปี และได้รับมอบหมายให้รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง จนได้รับขนานนามในหนังสือ Who is Who in Thailand ว่า “นักดับปัญหาทางการศึกษา” (Educational Troubleshooter)
“…เมื่อต้องมีชีวิตแบบนี้ก็ต้องสั่งสมประสบการณ์หลากหลาย ยิ่งมากขึ้นก็ยิ่งชินกับเรื่องของการทํางานต่อสู้เอาชนะอุปสรรค และทุกครั้งที่ผ่านมาได้ก็สะสมความมั่นใจมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ความมั่นใจในตัวเอง แต่คือความมั่นใจว่าชีวิตคือการต่อสู้และไม่มีอะไรที่อยู่เหนือความสามารถถ้าเราทุ่มเทความพยายามให้เต็มที่…” (อมรวิชช์ นาครทรรพ, 2558: 56) แสดงให้เห็นถึงความมีเลือดนักสู้และวิญญาณนักต่อสู้
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่
- พ.ศ. 2520 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2521 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- พ.ศ. 2521 – 2530 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- พ.ศ. 2535 – 2543 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- พ.ศ. 2536 – 2541 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- พ.ศ. 2549 – 2550 อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
นอกจากนี้ ได้คิดสร้างสิ่งใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ “จุดประกาย ขายความคิด พิชิตความเปลี่ยนแปลง และสร้างความต่อเนื่อง” ได้แก่ ริเริ่มมหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ งานสหกิจศึกษา งานวิจัยสถาบัน และงานค่ายอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยในเรือนจำ โครงการนักเรียนทุนการศึกษาเสริมสมอง ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนระดับประถมศึกษาให้มีโอกาสได้เรียนจนถึงระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ถนัด
ก่อตั้ง มสธ. มหาวิทยาลัยเปิดด้านการศึกษาทางไกลแห่งแรก
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งการศึกษาทางไกลของประเทศไทย” เป็นผู้นำระบบการศึกษาทางไกลมาใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2521 มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ถือเป็น “นวัตกรรมอุดมศึกษาของประเทศไทย” ที่ให้โอกาสทางการศึกษา จนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในระบบการสอนทางไกลที่ใช้สื่อประสมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และได้รับการยกย่องจากสภาการศึกษาทางไกลระหว่างประเทศให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก และได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่เกิดจากความคิด สติปัญญาและความสามารถของคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเปิดจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ เมื่อศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ได้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับปริญญา โดยอาศัยสื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน จนสำเร็จได้ยกร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้มหาวิทยาลัยเปิดเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานสิทธิเสรีภาพและผู้ทรงสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางใจที่ประเทศชาติและประชาชนมอบให้” ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวไว้เมื่อครั้งได้รับความไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั้งใหม่และมีนักศึกษากว่าแสนคน ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในระยะที่ท่านเป็นอธิการบดี เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากที่สุด การทำงานเป็นทีม และการเป็นที่พึ่งของผู้อื่น โดยยึดหลัก “การบริการคืองานของเรา“
หยั่งรากแห่งความมั่นคงของมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2535 โดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเชิงระบบบริหารเต็มรูปแบบ ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐหรือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งระบบราชการไม่เอื้อต่อการทำงานของมหาวิทยาลัย เป็นการสืบทอดเจตนารมย์ “กระบวนการสวางคนิวาส” ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2506 ที่มุ่งหวังให้สถาบันอุดมศึกษาเจริญรุดหน้า เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และมีอิสรภาพในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และการดําเนินภารกิจทุก ๆ ด้าน ด้วยหลักการที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคลและการเงินที่มีความคล่องตัว เพื่อดึงดูดคนดีคนเก่่งเข้ามาเป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย
บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย” ถือเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2536
สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning)
นวัตกรรมวิจิตร ผลงานจากแนวคิดสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
นวัตกรรมวิจิตร เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ได้คิดสร้างสิ่งใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ชีวิต และสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 8 นวัตกรรม ดังนี้
- นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร
เป็นแนวคิดในการนำกิจกรรมค่ายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนักศึกษา เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ ที่มาของแนวคิดจากการเป็นตัวแทนผู้นำนิสิตนักศึกษาในการเข้าค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติ ขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หมู่บ้านชนบทในรัฐบอมเบย์ของอินเดีย
- นวัตกรรมการวิจัยสถาบัน
เป็นการวิเคราะห์วิจัยศึกษาสถาบันของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศสำหรับกำหนดนโยบายการบริหาร ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งมีบทบาทต่อการประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาของการวิจัยสถาบันในประเทศไทย”
- นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิด
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นนวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิดที่เกิดจากความเชื่อและแรงบันดาลใจจากแนวคิดมหาวิทยาลัยในกระดาษ สู่ มหาวิทยาลัยในการกระทำ เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องความเสมอภาคและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วประเทศไทยและต่างประเทศให้ได้มีโอกาสศึกษาจนจบปริญญาตรี
- นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง
เป็นการจัดตั้งกองทุนการศึกษาเสริมสมอง เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในการให้ทุนกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้ศึกษาจนจบปริญญาตรี ภายใต้โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมองของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ
เป็นนวัตกรรมคืนคนดีสู่สังคม ที่ยึดหลักให้การศึกษาตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ต้องขังที่ขาดโอกาสในการเรียนมหาวิทยาลัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกับกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันจัดการเรียนการสอนในเรือนจำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
- นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
เป็นนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารที่คล่องตัว และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 และแห่งที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2533
- นวัตกรรมสหกิจศึกษา
เป็นกระบวนการของการพัฒนานักศึกษาควบคู่กับการเรียนการสอนปกติในมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการทุกสาขาวิชา โดยกรอบแนวคิด “สหกิจศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของมาตราฐานทางวิชาการตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตราฐานวิชาชีพควบคุมตามที่มีกฎหมายรองรับ ถือเป็นการจัดประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการ”
- นวัตกรรมพัฒนาบุคลากรตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพอุดมศึกษา
เป็นแนวคิดในการพัฒนาคณาจารย์และผู้สนับสนุนการเรียนรู้ตามกรอบมาตราฐานวิชาชีพด้านการเรียนการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ของอังกฤษ (UK Professional Standards Framework – UKPSF) แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow และ Principal Fellow เพื่อบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและมีประสิทธิภาพตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ
เอกสารอ้างอิง
อมรวิทย์ นาครทรรพ. (2558). วิจิตรกิตติการ. ศูนย์บรรณสารการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.