STOU Storian Podcast EP.2 พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

  1. ความหมายของคำว่า “ปริญญา ปริญญาบัตร และบัณฑิต”
  2. ประวัติศาสตร์พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของไทย
  3. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของ มสธ.
  4. รัชกาลที่ 10 พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มสธ. ครั้งแรก
  5. ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

วันรับปริญญา เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของบัณฑิตที่ได้มุ่งมั่นพากเพียรจนสำเร็จการศึกษา หลายท่านรอคอยที่จะได้รับปริญญาบัตรและได้สวมชุดครุยวิทยฐานะประจำสถาบันอันทรงเกียรติ อีกทั้งยังเป็นวันแห่งความสุขของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนที่มาร่วมแสดงความยินดีแก่บัณฑิตใหม่ 

การรับปริญญา มีความเป็นมาอย่างไร และจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร และมีความสำคัญอย่างไร ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการจัดพิธีพระราชพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทย และของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ที่รายการ STOU Storian Podcast ตอนที่ 2 “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ความหมายของคำว่า “ปริญญา ปริญญาบัตร และบัณฑิ

คำว่า “ปริญญา ปริญญาบัตร และบัณฑิ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้อธิบายความหมายไว้ ดังนี้

  1. ปริญญา มีความหมาย 2 ลักษณะ คือ

(๑) ความกำหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ

(๒) ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กำหนดไว้, ถ้าประสาทแก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีเกียรติตามที่เห็นสมควร เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์  

  1. ปริญญาบัตร

ปริญญาบัตร หมายถึง บัตรที่แสดงวิทยฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาว่ามีศักดิ์และสิทธิ์ระดับปริญญา

  1. บัณฑิต

บัณฑิต หมายถึง ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต 

ประวัติศาสตร์พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของไทย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิตชั้นตรี ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 34 คน เป็นเวชบัณฑิตที่จบการศึกษาในรุ่น 1 และ รุ่น 2 (หรือเทียบเท่าปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน)

ซึ่งพิธีการในวันนั้น ได้มีการถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยก่อนหน้าเพียงไม่กี่เดือน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2473 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 ความตอนหนึ่งว่า “…นิสิตที่เล่าเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและได้รับปริญญานั้น ควรมีโอกาสใช้เสื้อคลุยมหาวิทยาลัยเป็นที่เชิดชูเกียรติยศให้เข้ารูปเยี่ยงนิสิตในสถานอุดมศึกษาทั้งหลายในนานาประเทศ…” ถือเป็นจุดเริ่มต้นการใช้ครุยวิทยฐานะสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาในไทย  

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ ในวันนี้นับว่าเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้นนับว่าเป็นวันสำคัญในประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่าไม่ว่าประเทศใด ๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง…”   

การเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญเพื่อแสดงความยินดีแก่บัณฑิต จนก่อเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของ มสธ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ “มสธ.” เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการศึกษาทางไกล โดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” และได้สถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 ต่อมาได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2523 สาขาวิชาที่เปิดสอนในปีแรก ได้แก่ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ  

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ​ จึงมีอำนาจให้ปริญญาบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่น ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตครั้งแรก เมื่อวันที่ 26-31 มีนาคม พ.ศ.2527 เป็นเวลา 5 วัน ณ อาคารใหม่​ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร เป็นบัณฑิตปริญญาตรีรุ่นแรก ประจำปีการศึกษา 2525 จำนวน 9,594 คน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร และทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เมื่อวันที่ 26 – 31 มีนาคม 2527

“…บัณฑิตของสถาบันนี้ย่อมจะต้องเข้าใจแน่ตระหนักถึงคุณค่าของวิชา ความรู้  หรือศิลปวิทยาการทั้งปวง ว่าคือปัจจัยสําคัญที่สุดในการสร้างความเจริญ แต่นอกจากวิชาความรู้แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนจําเป็นต้องมี คือวินัย เพราะวินัยนั้นเป็นพื้นฐานรองรับวิชาความรู้ ช่วยให้บุคคลทรงคุณความรู้อยู่ได้ และส่งเสริมให้สามารถนําความรู้มาปฏิบัติการให้เกิดประโยชน์ได้…..”

จากพระบรมราโชวาท แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ และความมีวินัย เพื่อให้นำวิชาความรู้มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และสร้างความเจริญทั้งแก่ตนเอง สังคม และบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ 

รัชกาลที่ 10 พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มสธ. ครั้งแรก

เมื่อวันที่ 13-22 มีนาคม พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นบัณฑิต มสธ. รุ่นที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2526 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร และพระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เมื่อวันที่ 13-22 มีนาคม 2528

“…บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความรู้ความสามารถอยู่ในเกณฑ์สูง ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างดี ด้วยการนำความรู้ความสามารถด้านต่างๆ ที่มีอยู่ ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งพยายามประสานสัมพันธ์กับฝ่ายอื่น ๆ บุคคลอื่น ๆ ให้ดีที่สุด เมื่อทำงานได้ผล ประเทศก็จะมีความเจริญมั่นคง และจะส่งผลถึงท่าน ทำให้ตัวท่านและครอบครัวของท่านมีความเจริญมั่นคงด้วย…”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของ มสธ. อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอย่างหาที่สุดมิได้ 

ปริญญาบัตรที่ได้มอบให้แก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในยุคแรก มีความพิเศษ คือ ข้อความในปริญญาบัตรเป็นตัวหนังสือลายมือเขียนอย่างพิถีพิถันบรรจง ซึ่งเขียนโดยบุคลากรของ มสธ. ในยุคนั้น แทนการพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

ใบปริญญาบัตรในยุคแรกของ มสธ.

ในช่วงยุคแรกเริ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 – 2549 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดพิธีพระราชทานปริญญา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ นิยมจัดงานรับปริญญาในอดีต ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยได้ย้ายมาจัดพิธี ณ อาคารอเนกนิทัศน์ อาคารแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับจัดงานสำคัญๆ ของมหาวิทยาลัย 

ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มาตั้งแต่รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2525 จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 38 ปีการศึกษา 2562 ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิต (ปริญญาตรี) จำนวน 511,628 คน และบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) จำนวน 15,692 คน (ข้อมูลอ้างอิง : คำกราบบังคมทูลของอธธิการบดี รายงานกิจการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2561 และ ปีการศึกษา 2562 เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2565 (ภาคแรก))

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 90 ปี นั้นแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงให้ความสำคัญกับความสำเร็จของบัณฑิต และความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จนก่อเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีอันดีงามในสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่สืบทอดต่อกันมา และนอกจากพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว พระบรมราโชวาทและพระราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบัณฑิตใหม่ได้นำเป็นข้อคิดปรับใช้ในชีวิต และการทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้

การสำเร็จการศึกษา และการรับปริญญา กล่าวได้ว่า คือ จุดเริ่มต้นบทบาทใหม่ของชีวิต เปรียบเป็นหมุดหมายที่สำคัญก่อนเริ่มต้นสู่โลกแห่งการทำงานของบัณฑิต

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

STOU Storian Podcast EP.3: ครุยวิทยฐานะ

พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2473

บทความออนไลน์: พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บทความออนไลน์: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชครั้งแรก

บทความออนไลน์: ครุย มสธ. เครื่องแบบแห่งความภาคภูมิ 

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561 และประจำปีการศึกษา 2562 เมื่อเสาร์ที่ 4 วันอาทิตย์ที่ 5 และวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565. มหาวิทยาลัย.

พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2473. (6 กรกฎาคม 2473). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 หน้า 92-95

ปานเทพ ลาภเกษร. (ม.ป.ป.) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th

หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.) พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 ตุลาคม 2473
. http://www.memohall.chula.ac.th/

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2536).ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. สํานัก.

ภาพประกอบโดย

สถานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช