ในโลกการทำงานหนีไม่พ้นเรื่องการนั่งหรือยืน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละคน แต่ไม่ว่าจะนั่งทำงานหรือยืนทำงาน หากอยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ย่อมส่งผลเสียได้เช่นกัน ชีวจิต ฉบับพฤษภาคม 2566 จะมาแนะนำข้อเสียของการนั่งนานและยืนนานเกินไป พร้อมวิธีป้องกันอาการปวดที่อาจจะเกิดขึ้น และวิธีแก้ไข บรรเทา หากเกิดอาการปวดขึ้นมาแล้ว เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าเราทำงานไปเพื่อต้องมาจ่ายค่ารักษาอาการปวดเหล่านี้
เริ่มจากการนั่งทำงานนานเกินไป มีข้อมูลว่าปัจจุบันเราอยู่ในอิริยาบถนั่งนานถึงวันละ 9.3 ชั่วโมง ซึ่งการนั่งนานเกินไปแบบนี้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน นอกจากระยะเวลาในการนั่งแล้ว ท่านั่งก็ส่งผลด้วย ทั้งท่านั่งเอียง นั่งเก้าอี้สูงเกินไป เตี้ยเกินไป แต่ใช่ว่านั่งถูกท่าแล้วจะสามารถนั่งนานได้ อย่างไรการนั่งนานก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่ดี เพราะจะทำให้เกิดการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง ทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูงได้ ชีวจิตจะพาไปพบกับวิธีแก้ไขนิสัยนั่งนาน และการบริหารร่างกาย ท่าง่ายๆ ที่ทำได้ที่โต๊ะทำงาน รวมถึงท่านั่งที่ถูกต้อง การจัดวางเครื่องใช้ อุปกรณ์สำนักงานที่ถูกต้อง ความสูงของโต๊ะทำงานที่ล้วนส่งผลต่อสุขภาพ
ส่วนใครที่ทำงานโดยการยืนทำงาน ก็ส่งผลเสียเช่นเดียวกับการนั่งทำงานเช่นกัน เพราะการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ นานเกินไปคงไม่ดีแน่ ผู้ที่ต้องยืนนานๆ เช่น พนักงานขาย พนักงานต้อนรับ วิทยากร ควรมีท่ายืนที่ถูกต้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน เช่น ศีรษะ แขนและไหล่ สะโพก กระดูกสันหลัง และเท้า เป็นต้น ในชีวจิตจะแนะนำการยืนที่ดีในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ท่ายืนบรรยาย/สอนหนังสือ ท่ายืนรีดผ้า
เมื่อเราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการทำงานมากที่สุด การรักษาสุขภาพเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และไม่ให้การทำงานบั่นทอนสุขภาพของเราเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย ดูจะสำคัญมากที่สุด
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในชีวจิต ฉบับพฤษภาคม 2566 ที่ห้องสมุด มสธ. อาคารบรรณสาร ชั้น 1 มุมวารสาร และศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. 10 แห่ง