๒๘
พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม 

อภิเษก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนคำว่า อภิเษกสมรส หมายถึง แต่งงาน (ใช้แก่เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า) ซึ่งคำนี้ปรากฎใช้อย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงให้บัญญัติคำสำหรับการแต่งงานในราชการเป็นครั้งแรก โดยกระทรวงวังมีประกาศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2460 ความตอนหนึ่งว่า “คำใช้เรียก การแต่งงานบ่าวสาวสำหรับในราชการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตกแต่ง มีพระราชกฤษฎีกาไว้เป็น 3 อย่าง ดังนี้

  1. เจ้าฟ้า ใช้ว่า อภิเษกสมรส 
  2. พระองค์เจ้า ฤา หม่อมเจ้า เรียกว่า เศกสมรส 
  3. ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ เรียกว่า งามสมรส 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2461 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 มีสาระสำคัญว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยามแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

26 สิงหาคม 2461 รัชกาลที่ 7 ทรงอภิเษกสมรส

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์  

พระราชพิธีเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. ด้วยพิธีการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรส จากนั้นรัชกาลที่ 6 พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ และพระราชทานของขวัญฉลองอภิเษกสมรส คู่อภิเษกสมรสทรงลงพระนามในสมุดทะเบียนแต่งงาน และในเวลาค่ำพระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ  

ความพิเศษในพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกของสยาม 

ประการแรก พิธีกรรมแบบตะวันตกครั้งแรกของสยาม 

พิธีการสมรสแบบคริสตศาสนิกชนชาวตะวันตก คือ การตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจ ซึ่งตามธรรมเนียมเดิมจะมีบาทหลวงเป็นผู้ถาม ในพระราชพิธีนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกโท พระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ (ลออ ไกรฤกษ์) สมุหพระนิติศาสตร์ เป็นผู้ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถาม  

ทูลถาม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ว่า “ฝ่าพระบาททรงตั้งพระหฤทัยที่จะทรงรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นพระชายาเพื่อทรงถนอมทะนุบำรุงด้วยความเสน่หาและทรงพระเมตตากรุณาสืบไปจนตลอดนั้น ฤา” 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น” 

แล้วทูลถาม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ว่า “ท่านตั้งหฤทัยที่จะมอบองค์ท่านเป็นพระชายาแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ด้วยความเสน่หาจงรักสมัครจะปฏิบัติอยู่ในพระโอวาทแห่งพระสามี สืบไปจนตลอดนั้น ฤา” 

หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น” 

หลังจากนั้นมีพิธีการรดน้ำสังข์ตามประเพณีแบบไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏและทรงเจิมที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของคู่อภิเษกสมรส และได้พระราชทานของขวัญเป็นเข็มพระปรมาภิไธยประดับเพชรแก่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ และสร้อยพระศอมีวัชรและอักษรพระปรมาภิไธยย่อภายใต้พระมหามงกุฎประดับเพชรล้อม กับหีบหมากทองคำแก่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เป็นทุน 160,000 บาท 

ประการที่สอง พิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม   

คู่อภิเษกสมรสทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” ว่า “ประชาธิปก” และ “รำไภพรรณี” แล้วในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ “ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน 12 พระองค์ มีรายพระนาม ดังนี้ “สว่างวัฒนา สุขุมาลมารศรี ภาณุรังษี สุทธาทิพย์ บริพัตร จักรพงษ์ วไลย อัษฎางค์ จุฑาธุช นริศ นเรศวรฤทธิ์ สรรพสิทธิ์”

ซึ่งทะเบียนแต่งงานถือได้ว่าเป็นต้นแบบการจดทะเบียนสมรสในปัจจุบัน 

ประการที่สาม ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกของสยาม 

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ทรงพระราชทานของชำร่วยเป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร จารึกคำว่า “อภิเษก” บนด้านซ้ายที่ลงยาสีเขียว สีประจำวันพุธ วันพระราชสมภพในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และคำว่า “สมรส” บนด้านขวาที่ลงยาสีชมพู สีประจำวันอังคาร วันพระราชสมภพในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งแหวนทองทำพระราชทานเป็นของชำร่วยเฉพาะเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ที่ทรงลงพระนามเป็นพยาน 

หลังจากพิธีอภิเษกสมรส ได้เสด็จฯ มาประทับที่วังศุโขทัย ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ บรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเป็นเรือนหอ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ทรงประกาศเฉลิมพระนามพระชายาเป็น “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” และสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีโดยสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายและราชประเพณี ซึ่งยังแสดงให้เห็นถึงความสมัยใหม่ทัดเทียมพระเจ้าแผ่นดินในนานาอารยประเทศที่ทรงมีสมเด็จพระราชินีเป็นพระมเหสีคู่บัลลังก์เพียงพระองค์เดียว   

ความรักของทั้งสองพระองค์ยั่งยืนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงอยู่เคียงข้างกันเสมอทั้งยามทุกข์และสุข ตามคำสัตย์สัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งอภิเษกสมรสว่าจะรักและดูแลอยู่เคียงคู่กันตลอดไป ถือเป็นแบบอย่างความรักที่ซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียวตลอดชีวิต 

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน