บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SS2 EP.12 การท่องเที่ยวไร้มลพิษกับแหล่งวัฒนธรรมนนทบุรี ดินแดนเกาะเกร็ด

เข้าสู่เดือนเมษายน เดือนแห่งเทศกาลปีใหม่ไทยที่หลายคนจะได้พักผ่อนหย่อนใจกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลนี้ หากใครยังไม่รู้ว่าหยุดยาวจะไปไหนดี ห้องสมุด มสธ. มีสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาแนะนำค่ะ

การท่องเที่ยวไร้มลพิษ

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวไร้มลพิษ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงวิธีการลดการปล่อยมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการเดินทางตามแหล่งวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมลพิษน้อย มักเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวสร้างสรรค์และสมดุลกับธรรมชาติ

ปัจจุบันการเดินทางแบบไร้มลพิษเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟหรือรถบัส ระบบขนส่งสาธารณะที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะส่วนตัว, การเดินเท้าเพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยว หรือ การใช้จักรยาน เพื่อเดินทางระยะสั้นในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้วยังช่วยให้ได้ออกกำลังกายด้วยเช่นกัน

รูปแบบการท่องเที่ยวเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับการลดการปล่อยมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแต่ช่วยลดมลพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราเอง แต่ยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพราะช่วยยับยั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของการเกิดโลกร้อนได้ ก๊าซเรือนกระจกจะทำหน้าที่ดูดซับความร้อนให้เหมาะสมช่วยรักษาระดับอุณหภูมิโลก ปริมาณก๊าซมากก็ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น (อ่านสาเหตุโลกร้อนเพิ่มเติมได้ที่ บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SEASON 2 EP.7 โลกร้อนกับประเทศไทย

เกาะเกร็ด: แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เจดีย์เอียงริมน้ำวัดปรมัยยิกาวาส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี

แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าเที่ยวแบบไร้มลพิษที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ห้องสมุด มสธ. ขอแนะนำ เกาะเกร็ด ที่ตั้งอยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นเกาะเกร็ดที่เกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2265 ทำให้คลองลัดดังกล่าว เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” หรือ “คลองเตร็ดน้อย” ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศเนื่องจากไหลทางตรงได้สะดวกกว่าและกัดเซาะตลิ่งทำให้คลองสายนี้ขยายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุในโฉนดชื่อว่า เกาะศาลากุล ตามชื่อวัดศาลากุลที่สร้างโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) ตั้งแต่สมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ด จึงเรียกว่า “เกาะเกร็ด”

เกาะเกร็ดเป็นชุมชนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีพื้นที่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นชุมชนมอญเก่าแก่ที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมรูปแบบชาวมอญอยู่ภายในชุมชน มีสถานที่สำคัญมากมาน เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดฉิมพลีสุทธาวาส วัดป่าเลไลย์ วัดเสาธงทอง และชุมชนเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด เนื่องจากมีเอกลักษณ์ลวดลาย โดดเด่น ซึ่งเป็นที่มาของตราประจำจังหวัดนนทบุรีด้วย แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดที่สำคัญ จะอยู่บริเวณเกาะเกร็ดหมู่ 1 หมู่ 6 หมู่ 7 ตั้งอยู่ระหว่างวัดปรมัยยิกาวาส และวัดไผ่ล้อมในปัจจุบัน ซึ่งคนมอญจะเรียกว่า “กวานอาม่าน” แปลว่า “บ้านเครื่องปั้น” ปัจจุบันได้มีครูผู้สอนให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการปั้น และการทำลวดลายเครื่องปั้นดินเผา

นอกจากสถานที่สำคัญนี้ ยังมีอาหารท้องถิ่น เช่น ทอดมันหน่อกะลา เมี่ยงคำกลีบบัว ข้าวแช่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งขึ้นชื่อเกี่ยวกับขนมหวานโบราณ เช่น ขนมหันตราสูตรชาวมอญ เสนห์จันทร์ ไข่ในรังทอง ขนมไข่ปลา และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้นการเที่ยวบนเกาะเกร็ดสามารถเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับได้ภายใน 1 วัน และมีบริการจักรยานให้เช่า สามารถปั่นเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ได้หลายแห่ง ได้ทานอาหารท้องถิ่นที่น่าอร่อยของชุมชน รวมทั้งได้สัมผัสวัฒนธรรมต่าง ๆ ในวิถีชุมชนชาวเกาะเกร็ด ลองหันมาท่องเที่ยวแบบไร้มลพิษ ไม่เพียงแค่ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ยังช่วยส่งเสริมการรักษาและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้อีกด้วย

อ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2566, 7 สิงหาคม). สัมผัสเสน่ห์เกาะเกร็ด นนทบุรี. https://thai.tourismthailand.org/Articles/สัมผัสเสน่ห์เกาะเกร็ด-นนทบุรี

เกาะเกร็ด. (2566, 27 พฤษภาคม). ใน วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. https://th.wikipedia.org/wiki/เกาะเกร็ด

พิศาล บุญผูก. (2551). ท้องถิ่นปากเกร็ด. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. https://library.stou.ac.th/wp-content/files/pdf/nonthaburi-ebook/pakkred-stories-uncovered.pdf

วัชรพล แดงสุภา. (2560, 22 พฤษภาคม). 5 เคล็ดลับสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้การเดินทางดีต่อใจและดีต่อโลกด้วยเช่นกัน. กรีนพีซ. https://www.greenpeace.org/thailand/story/1763/5-tips-sustainable-tour/

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย. (2566). คู่มือชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม 2564 ชุมชนเรียนรู้หัตถกรรมบ้านดินมอญเกาะเกร็ด ร้านบ้านดินมอญ เกาะเกร็ด. https://www.sacit.or.th/th/detail/2023-08-22-16-07-14

สุจริต บัวพิมพ์ (บ.ก.). (2553). เล่าเรื่องเมืองนนท์. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยราชพฤกษ์

องค์การบริหารส่วนตำบลบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์. (2563, 5 มีนาคม). สนับสนุนการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน. https://www.bangkiean.go.th/networknews/detail/77393

ผู้เรียบเรียง

ณัฐพล โหตระกิตย์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.