พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี (งานสมโภชพระนคร 150 ปี หรือ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี) เมื่อ พ.ศ.2475 โดยมีหมายกำหนดการทั้งสิ้น 9 วัน แบ่งเป็น 3 ภาค คือ งานฉลองพระนคร งานเฉลิมสิริราชสมบัติ และงานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอนุสรณ์สถาน อันได้แก่ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สะพานพระพุทธยอดฟ้า และโรงมหรสพศาลาเฉลิมกรุง รวมถึงทรงให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
21 เมษายน 2325 วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และทรงพระราชดำริให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีเดิมอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างพระนครแห่งใหม่ คือ “กรุงรัตนโกสินทร์” โดยทำ “พิธียกเสาหลักเมือง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.54 น. ซึ่งได้จารึกที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาย่ำรุ่ง 54 นาที”
การสร้างพระนครใช้เวลาถึง 3 ปี จึงแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชพระนครเป็นครั้งแรก และพระราชทานนามกรุงรัตนโกสินทร์ราชธานีแห่งใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” หรือ “กรุงเทพมหานคร”
ครั้งที่ 2 การจัดงานสมโภชพระนคร 100 ปี เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ครั้งที่ 3 การจัดงานสมโภชพระนคร 150 ปี เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองพระนครขึ้น เมื่อ พ.ศ.2475 เป็นวาระที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 150 ปี โดยทรงพระราชดำริให้เตรียมงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมงบประมาณได้ทันสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ และเห็นควรมีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี และเพื่อประโยชน์สูงสุดแห่งมหาชน คือ ปฐมบรมราชานุสรณ์ ประกอบด้วย 1) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และ 2) สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอาราม และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงมหรสพติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย โดยพระราชทานชื่อว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี ยังจัดให้มีงานเวียนเทียนสมโภชองค์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ และการเล่นมหรสพที่ท้องสนามหลวง อาทิ โขน ละคร และลิเก
หมายกำหนดการพระราชพิธี
พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี มีหมายกำหนดการแบ่งเป็น 3 ภาค คือ
- ภาคที่ 1 งานฉลองพระนคร วันที่ 4-6 เมษายน พ.ศ. 2475
- ภาคที่ 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ วันที่ 8-10 เมษายน พ.ศ. 2475
- ภาคที่ 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน วันที่ 23-25 เมษายน พ.ศ. 2475
ภาคที่ 1 งานฉลองพระนคร
4 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.00 น. เสด็จออกพลับพลาท้องสนามหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ คณะทูต ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ข้าราชการ และประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้แทนกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในการพระราชพิธีบวงสรวง ดังความตอนหนึ่งว่า
“…การมงคลมหกรรมคราวนี้นั้น ได้กระทำด้วยความระลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้พระบรมมหาปัยยกาธิราชเจ้าของเราที่ได้ทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ พร้อมกับอิสรภาพของประเทศสยาม ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีซึ่งสืบพระราชสันตติวงศ์ทุกพระองค์ ต่างก็ทรงพระปัญญาวิจารณญานสามารถ…ด้วยพระราโชบายและราชานุภาพอันเหมาะสมแก่เหตุการณ์พิเศษทุกรัชกาล…เมื่ออาณาประชาราษฎรได้รับความผาสุกแล้ว บ้านเมืองก็ได้ดำรงมาโดยสวัสดิภาพ กรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงเป็นพระมหากษัตริย์นครแห่งประเทศสยามยั่งยืนมาถึง 150 ปี…”
จากนั้นทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองทหาร แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณท้องสนามหลวง เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
พระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในวันเดียวกันนั้น เวลา 18.15 น. เสด็จในพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในโอกาสที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และทรงพระราชศรัทธาให้สร้างคัมภีร์พระธรรมเทศนาใหม่ จำนวน 150 จบ
5 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 10.55 น. เสด็จฯ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงประเคนอาหารภัตต์ ทรงเจิมคัมภีร์พระธรรมเทศนา และทรงประเคนของที่ระลึกในงานฉลองพระนคร 150 ปี หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระอดีตมหาราชาธิราชเจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานเวียนเทียนฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฉลองคัมภีร์พระธรรมเทศนา รวมถึงมีการแสดงมหรสพจนถึงกลางคืน
เวลา 17.10 น. เสด็จฯ ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระสงฆ์ 12 อาราม รวม 120 รูป เจริญพระพุทธมนต์ในการฉลองพระนคร ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
เวลา 17.25 น. เสด็จฯ ไปยังพระโรงราชพิธีเชิงสะพานพุทธยอดฟ้า ทรงประเคนผ้าไตรและย่ามกับพัดรองที่ระลึกในงานฉลองพระนครแด่พระสงฆ์ 30 รูป พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ และเหรียญรัตนาภรณ์แก่เจ้าพนักงานผู้สร้างสะพาน พระราชทานหีบบุหรี่เงินถมแก่นายเจ.รัคก์ (Mr. J. Ruck) และโปรดเกล้าฯ ให้ส่งหีบบุหรี่เงินถมแก่นายชาร์ลส์ มิเชล (Mr. Charles Mitchell) ประธานกรรมการบริษัทดอร์แมน ลอง (Dorman, Long & Co., Ltd.,) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างสะพาน
ทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์
6 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 8.15 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระที่นั่งราชยานพุดตานทองเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังพระโรงราชพิธีเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานการสร้าง มีพระราชดำรัสตอบแล้ว ได้เวลาอุดมมงคลฤกษ์ เวลา 08.15 น. ทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยมีดเงิน เพื่อเปิดคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดป้ายชื่อสะพานพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน จากนั้นทรงพระดำเนินขึ้นบนบัลลังก์ที่ประดิษฐานพระบรมรูป ทรงพระสุหร่ายทองลงยาสรงและทรงเจิมพระบรมรูปด้วยแป้งในพระมังสี เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว จึงเปิดให้ประชาชนได้กราบถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตลอดทั้งวัน
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค ข้ามสะพานไปยังฝั่งธนบุรี และเสด็จประทับพลับพลาเชิงสะพาน ทอดพระเนตรกระบวนเรือรบแล่นผ่านลอดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ตามด้วยกระบวนเรือพระบรมราชอิสริยยศ เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง
เวลา 10.00 น. เสด็จประทับในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์ และเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคไปเทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์
7 เมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแต่งโคมไฟตามสถลมารค ทรงอนุโมทนาในน้ำใจอันดีของพลเมืองที่ทำด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเมือง
ภาคที่ 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ
8 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.45 น. เสด็จออกห้องพระราชพิธีในท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในการพระราชพิธีเฉลิมราชสิริสมบัติ ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ พร้อมด้วยกรรมการทั้งคณะทรงนำพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์จำลองขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย จากนั้นทรงศีลแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมุขกระสันโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
9 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 10.55 น. เสด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ทรงเศวตพัสตร์
เวลา 12.00 น. เสด็จออกดาดฟ้าข้างพระที่นั่ง ทรงจุดธูปเทียนสังเวยเทวดา ทรงสรงพระมรุธาภิเษก ภายใต้นพปฏลเศวตฉัตร จากนั้นทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์ พระภูษาเขียนทอง พื้นสีตามพระพิชัยสงครามประจำสนิวาร ฉลองพระองค์ขาว ทรงรัดพระคต พระมาลาสักหลาดขาวสอดพระสังวาลย์มหานพรัตน ทรงพระแสงดาบคาบค่าย เสด็จออกห้องพระราชพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายแด่พระสงฆ์
เวลา 14.00 น. โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน เวียนเทียนสมโภชพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ภาคที่ 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน
23 เมษายน พ.ศ. 2475 โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ทรงพระราชอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 6 รัชกาล และสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ภาพยนตร์ “พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี”
ด้วยความสนพระราชหฤทัยด้านภาพยนตร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะ “ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” เป็นผู้บันทึกงานการสมโภชพระนคร 150 ปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมได้เห็นการสมโภชพระนครตลอดพิธี ภาพยนตร์ได้มีการจัดทำเสียงบรรยายทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน ควบคู่กับคำบรรยายแบบภาพยนตร์เงียบ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2554 ภาพยนตร์ “พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี” ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ นับว่าเป็นหนังเสียงของไทยที่เก่าแก่ที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- นิทรรศการออนไลน์ เรื่อง สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
- บทความออนไลน์ เรื่อง ปฐมบรมราชานุสรณ์ ราชอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
- บทความออนไลน์ เรื่อง การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- บทความออนไลน์ เรื่อง ศิลป์ พีระศรี ประติมากรฟลอเรนซ์สู่ประติมากรรมสยาม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7
- บทความออนไลน์ เรื่อง สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ของสยาม
- บทความออนไลน์ เรื่อง กำเนิด “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงหนังติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย
เอกสารอ้างอิง
รายงานกิจการ ประจำปี 2563 มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. (2563). พระราชบันทึกความทรงจำในองค์ประชาธิปกเกี่ยวกับเมื่อเสด็จฯ ยังสหรัฐอเมริกา. อมรินทร์การพิมพ์.
ผู้เรียบเรียง
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.