๔๔
ปฐมบรมราชานุสรณ์ ราชอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1

“ปฐมบรมราชานุสรณ์” เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 ว่าในวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการสถาปนาพระนครและพระบรมราชจักรีวงศ์ ใน พ.ศ. 2475 ควรจะที่จะสร้าง “ราชอนุสาวรีย์ถวายพระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” (พีรศรี โพวาทอง, 2564, น. 98) องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และราชวงศ์จักรีที่สถาปนากรุงเทพมหานคร

พระราชดำริในรัชกาลที่ 7

            พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับงานฉลองพระนครเริ่มปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2469 ในขณะนั้นเป็นเวลาที่สยามกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และงานฉลองพระนครเป็นงานสำคัญของชาติ นอกจากนี้ยังทรงพระราชดำริว่า

การจัดงานฉลองพระนครอย่างเดียวเป็นเพียงงานรื่นเริงชั่วคราว เมื่อสิ้นงานทุกคนย่อมลืมเลือนไม่เหลือสิ่งใดเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง จึงควรสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ …ไม่มีสิ่งใดดีกว่าการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทั้งได้พระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ไพร่ฟ้าโดยทั่วกัน

พระราชดำริดังกล่าวนี้เป็นเพียงการภายในยังไม่ได้ประกาศออกเป็นทางราชการ ต่อมาจึงประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบ “ประกาศสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างปฐมราชานุสรณ์ ประกอบด้วย

  • สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช    นายก
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต                    อุปนายก
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์                   กรรมการ
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ                             กรรมการ
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ                                           กรรมการ
  • เสนาบดีทุกกระทรวง                                                                       กรรมการ
  • เจ้าพระยามหิธร (ละออ ไกรฤกษ์)                                            กรรมการและเลขานุการ

สะพานพุทธยอดฟ้า ปฐมบรมราชานุสรณ์

ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2470 นั้น มีการยกประเด็นเรื่องสถานที่ที่จะประดิษฐานพระบรมรูปซึ่งได้มีความคิดกันอยู่เดิมบ้างแล้ว ว่าจะสร้างพระบรมรูปหล่ออย่างใหญ่ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตกแต่งแก้ไขซ่อมแซมพระวิหารให้วิจิตรบรรจง ขยายลานเสาชิงช้าให้กว้างใหญ่ และทำถนนขนาดใหญ่มีสวนยาวตั้งแต่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ ตรงไปบรรจบถนนราชดำเนินกลาง แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้นทรงเสนอให้พิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตด้วยว่าการสร้างถนนดังกล่าวอาจอยู่ในประเภทงดงามเฉย ๆ ไม่สู้เป็นสาธารณประโยชน์มากนัก

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นการประชุมปรึกษาครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเสนอต่อที่ประชุมว่านอกจากสร้างพระบรมรูปแล้วควรสร้างสะพานเชื่อมจังหวัดธนบุรีกับกรุงเทพฯ การสร้างสะพานนี้เป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมาก ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นเครื่องแสดงเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบและมีพระบรมราชวินิจฉัยควรสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ใกล้ ๆ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสะพานนั้นมีนามว่า “สะพานพุทธยอดฟ้า” และเมื่อหมายรวมถึงพระบรมรูปด้วยจะนามว่า “ปฐมบรมราชานุสรณ์”

การออกแบบพระบรมรูปรัชกาลที่ 1

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภาผู้อำนวยการแผนกศิลปากร ทรงออกแบบและอำนวยการก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2472 ทรงนำแบบร่างพระบรมรูปแบบประทับนั่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี (Prof. Corrado Feroci) หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี ซึ่งรับราชการอยู่ที่ศิลปากรสถาน เป็นผู้ปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมรูปฯ            

ปฐมบรมราชานุสรณ์ถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี บนแผ่นดินสยาม โดยการออกแบบนั้นได้มีการนำเสนอแนวความคิดให้พระบรมรูปมีลักษณะเหมือนจริงตามอย่างอนุสาวรีย์ในตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากอุดมคติของโบราณราชประเพณี ระยะแรกเริ่มการปั้นพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ด้วยปูนปลาสเตอร์เพื่อเป็นพระรูปจำลอง โดยมีจากนายสุข อยู่มั่น ช่างปั้นช่างหล่อผู้ร่วมงานและคอยช่วยงานในการปั้นรูปจำลองพระบรมรูปฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนหน้านี้ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีเคยจำลองพระบรมรูปฯ ขนาดพระองค์จริงด้วยปูนปลาสเตอร์ไว้รูปหนึ่งโดยอาศัยการถอดพิมพ์พระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จากหอพระบิดร ส่วนด้านพระวรกายก็คัดเลือกจากบุคลิกลักษณะของชายไทยที่แข็งแรงมีรูปลักษณ์เป็นนักรบ 

นายสุขเล่าต่อไปว่า วันหนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ยังห้องปั้นพระบรมรูปฯ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร พร้อมด้วยนายเฟโรจี คอยกราบบังทูลถวายคำชี้แจ้งอย่างละเอียดครบถ้วน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาใกล้ชิดพระบรมรูปฯ และมีพระราชดำรัสว่า

“ดีมาก เหมือนมาก ช่างเหมือนรัชกาลที่ 1 เสียจริง ๆ”

ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้เดินทางไปยังยุโรปเพื่อนำรูปปั้นต้นแบบพระบรมรูปฯ และควบคุมการดำเนินงานการหล่อพระบรมรูปฯ ด้วยสำริดที่โรงหล่อในประเทศอิตาลี ใช้ระยะเวลา 9 เดือนในการหล่อพระบรมรูปฯ ขนาด 3 เท่าของคนจริงจนสำเร็จ และถูกส่งกลับสยามเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อชิ้นส่วนให้สมบูรณ์ ณ กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดธนบุรี โดยงานติดตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ณ ปฐมบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นั้นแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474 เตรียมพร้อมสำหรับงานสมโภชพระนคร 150 ปี ในเดือนเมษายน เดือนแรกของปี 2475

6 เมษายน 2475 พิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์

วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 วันที่ระลึกมหาจักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ (แทนสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว) กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ มีพระราชดำรัสตอบแล้ว ได้เวลาอุดมมงคลฤกษ์เวลา 08.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ซึ่งบริษัทดอร์แมน ลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน

วันที่ 7-8 เมษายน พ.ศ. 2475 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน ได้มีการเวียนเทียนสมโภชองค์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ เพื่อเป็นการน้อมสักการะดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน การสมโภชพระนครในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเล่นมหรสพที่ท้องสนามหลวงกันอย่างครึกครื้น โดยจัดให้มีการละเล่นต่างๆ เช่น โขน ละคร ลิเก และจัดให้ประชาชนได้ลงเรือ ลงแพ ที่เรียงรายอยู่ตามสองฝั่งของสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวไทยอย่างที่สุด

ลักษณะของพระปฐมบรมราชานุสรณ์

พระบรมรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีขนาดความสูงจากพื้นถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร พระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร พระบรมรูปทรงเครื่องบรมขัตติยาภรณ์ภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระราชยานกง ตั้งอยู่บนฐานสูงประดับด้วยศิลา มีเครื่องบูชาทำด้วยโลหะตั้งสองข้าง ทั้งหมดประดิษฐานบนเกยสูง ด้านหน้าเกยมีผ้าทิพย์เป็นหินอ่อนจำหลักลาย เบื้องหลังพระบรมรูป “มีซุ้มจระน้ำสกัดหลังตั้งเป็นลับแล มีศิลาจารึกอยู่ด้านหลัง” ลับแลนี้ออกแบบให้ช่วงกลางสูง ตีเส้นเซาะร่องทางนอนให้ดูหนักแน่นมั่นคง เว้าเข้าไปเป็นซุ้มจรณัม ทำเสาแปดเหลี่ยมสองต้นรองรับคานทับลังจำหลักลายเฟื่องอุบะที่เบื้องบน ตามแบบสถาปัตยกรรมขอม พื้นหลังซุ้มจรณัมกรุกระเบื้องโมเสคสีทองเพื่อขับให้องค์พระบรมรูปลอยเด่น ที่ยอดลับแลมีซุ้มประดิษฐานพระราชลัญจกรอุณาโลม อันเป็นตราพระราชสัญลักษณ์

ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์มีลานกว้าง ตามแนวพระราชดำริแรกเริ่มในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ที่ว่า “ทำรูปสนองพระองค์ตั้งในที่เปิดเผยเป็นสง่า” และเป็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งที่สามารถรองรับการ “ประชุมกันถวายบังคมเป็นงานใหญ่ประจำปี” อีกทั้งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่มีรูปแบบศิลปกรรมประวัติศาสตร์นิยม (Historicism) แบบไทยผสมขอมที่ดูงดงามกลมกลืนไปกับเสาสะพานพุทธยอดฟ้าแบบอาร์ต เดโค (Atr Deco) ที่ออกแบบโดยนายเอมิลิโอ ฟอร์โน (Emilio Forno) ตลอดจนการออกแบบภูมิทัศน์ถนนและลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่นายช่างของศิลปากรสถานเป็นผู้ออกแบบ

เงินทุนดำเนินการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์

เงินทุนที่ใช้ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นั้นประมาณ 4,000,000 บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นส่วนพระองค์ และรัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยจำนวนหนึ่ง ส่วนเงินอีกจำนวนนั้นทรงพระราชดำริว่าควรบอกเรี่ยไรชาวสยามทุกชาติทุกชนชั้นบรรดาศักดิ์ว่ามีใจร่วมจะสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ตามกำลัง 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกในพะราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการ และในที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเห็นว่าควรทำเหรียญแจกแก่ผู้บริจาคเงินเพื่อเป็นการตอบแทน แต่ทำให้มีขนาดแตกต่างกับเหรียญที่ระลึกที่จะพระราชทานแก่ข้าราชการ 

กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.
พีรศรี โพวาทอง. (2564). สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ. สถาบันพระปกเกล้า.
ชาตรี ประกิตนนทการ และวิชญ มุกดามณี. (2566). วัตถุศิวิไลซ์ 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทศวรรษ 2390-2470. สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ.
วิจิตร อภิชาติเกรียงไกล. (2566). 100 ปี ศิลป์สู่สยาม. สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). 100 ปี ศิลป์สู่สยาม “ปริ๊นซ์นริส” กับนายเฟโรจี : ศิลปะข้ามวัฒนธรรม. สารคดี, (426), 24-65.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). อนุสาวรีย์ คือ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์. สารคดี, (426), 96-135.

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน