“สะพานพระพุทธยอดฟ้า” “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์” หรือ “สะพานพุทธ” เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ในงานสมโภชพระนคร 150 ปี ด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าในโอกาสที่สำคัญที่ควรจะมีการสร้างอนุสรณ์ 2 สิ่ง ได้แก่ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ปฐมบรมราชานุสรณ์) และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งพระนครเข้ากับธนบุรี เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่มหาชน
ริเริ่มการคมนาคมของเมืองหลวง
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นโครงการที่สำคัญ โดยเป็นการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครที่ปลายถนนตรีเพ็ชร ไปยังฝั่งธนบุรีที่วัดประยุรวงศาวาส สะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ปฐมบรมราชานุสรณ์” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวาระครอบรอบ 150 ปีแห่งการสถาปนากรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2475 โดยที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพะกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ว่านอกเหนือจากการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทะยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แล้ว ได้ให้ความเห็นว่า
“ไม่มีอะไรดีไปกว่าที่จะสร้างสะพานข้ามน้ำเจ้าพระยาอีกสะพานหนึ่ง เป็นสะพานที่ 2 สำหรับทางรถและคนเดินในศูนย์กลางแห่งพระนครเพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้พระนครและมีคนอาศัยอยู่เป็นอันมาก ในขณะเมื่อทำดังนี้ จะเท่ากับขยายพระนครขึ้นยิ่งกว่าเก่าอีก 1 ใน 3”
ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงย้ำว่าสะพานพุทธยอดฟ้ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งแก่การเดินทางไปมาระหว่างพระนครกับธนบุรี การเดินรถราง การประปา การบำรุงการค้าขาย
“ความสะดวกของการคมนาคมซึ่งได้จากสะพานนี้ จะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการ town planning และสร้างถนนกับการเชื่อมโยงรถไฟโดยรอบ”
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้สร้างสะพานดังกล่าว พร้อมกับการสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ในบริเวณที่ใกล้สะพานนั้น โดยที่จะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมในการสร้างสะพาน และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้อำนวยการสร้างสะพานดังกล่าว โดยสะพานนั้นมีนามว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” และเมื่อหมายรวมถึงพระบรมรูปด้วยจะนามว่า “ปฐมบรมราชานุสรณ์”
การออกแบบสะพานพระพุทธยอดฟ้า
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินนั้นโปรดให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวงร่างโครงการ (general plan) สำหรับสะพานขึ้น จากนั้นจึงเชิญบริษัทรับเหมาออกแบบก่อสร้างสะพานจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมณี และเดนมาร์ก มาสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2471 เพื่อให้แต่ละบริษัทออกแบบรายละเอียดและเสนอราคาค่าก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2472 โดยแต่ละบริษัทต่าง ๆ ได้ยื่นแบบและราคา จำนวน 5 บริษัท ดังนี้
- บริษัทดอร์แมน ลอง จากประเทศอังกฤษ ราคาสำหรับสะพานเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็ก 244,332 ปอนด์ ราคาตกแต่งอื่น ๆ 75,093 ปอนด์
- บริษัทไดเด จากประเทศฝรั่งเศส ราคาค่าสะพานเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็ก ราคารวม 328,339 ปอนด์
- บริษัทเยอรมันกลายบริษัทรวมกันส่งแบบหลายอย่าง ราคาต่ำที่สุด 351,899 ปอนด์
- บริษัมชาวิกลิอาโน จากประเทศอตาลี ราคาค่าสะพานเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็ก 266,000 ปอนด์
- บริษัทคริสเตียนและนิลซัน จาดแระเทศเดนมาร์ก ระคาค่าสะพานเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็ก 318,083 ปอนด์ สำหรับสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเว้นช่องที่เปิดได้เป็นเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็ก 314,417 ปอนด์
หลังจากนั้นจึงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยแบบและราคาค่าก่อสร้างของบริษัทเหล่านี้ โดยที่สุดท้ายได้ทรงเลือกแบบสะพานของบริษัทดอร์แมน ลอง (Dornam Long) ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้เสนอโครงการสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ออกแบบเป็นสะพานสีเขียว (สีประจำวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 7) ลักษณะสะพานเป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ช่วงสะพานแบ่งออกเป็นสามตอน สะพานตอนกลางเปิดปิดได้ด้วยไฟฟ้าและเปิดได้เป็นช่องกว้าง 60 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ผ่านได้ แต่ละตอนวางบนตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่เชิงสะพานมีเสาสูง (pylon) ทั้งสองข้างแม่น้ำเพื่อรับแรงถีบของน้ำหนักสะพาน ด้วยความพิเศษที่เป็นสะพานที่เปิดปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกนำเข้ามาในสยาม ณ ช่วงเวลานั้น
แผนผังของสะพานถูกออกแบบให้มีรูปร่างเป็นดั่ง “ลูกศร” โดยหัวลูกศรชี้ไปทางธนบุรี หางลูกศรตั้งอยู่ฝั่งพระนคร ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นที่ประดิษฐาน “ปฐมบรมราชานุสรณ์” เหตุผลที่ออกแบบแผนผังเป็นลูกศร ซึ่งสื่อถึงรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์เป็นรูปลูกศร จากพระนาม “ประชาธิปก ศักดิ์เดชน์” คำว่า “เดชน์” แปลว่า “ลูกศร” และโดยส่วนใหญ่ภาพรวมทั้งหมดของการออกแบบปฐมบรมราชานุสรณ์ ทั้งแผนผัง ฐานที่ตั้ง ฉากด้านหลัง ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในส่วนของภูมิทัศน์ถนนและลานหน้าพระบรมรูปนั้น โปรดให้นายช่างของศิลปากรสถานเป็นผู้ออกแบบ และกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้จัดทำแบบแปลน
พระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์สะพานพระพุทธยอดฟ้า
พระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ นับเป็นพิธีที่มาตั้งแต่สมัยโบราณว่าก่อสร้างมักนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ที่วางรากฐานอาคารเหล่านั้นก่อน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาคาร ถือว่าจะทำให้มั่นคงถาวรสืบไปชั่วกาลนาน การก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็เช่นกัน โดยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงติดต่อให้โหรหลวงหาฤกษ์สำหรับพระราชพิธี โดยพระฤกษ์ที่โหรคำนวณได้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 เวลาตั้งแต่ 17.57 – 18.45 น.
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงวางศิลาพระฤกษ์ซึ่งบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ต่อไปนี้ไว้
- แผ่นหิรัญบัฏจารึกประกาศพระบรมราชโองการสร้างสะพาน
- รูปสะพานและแผนผังสะพาน
- เหรียญบรมราชาภิเษกและเหรียญราชรุจิในรัชกาลที่ 7
- หีบบรรจุสิ่งของ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นผู้จัดทำ เป็นหีบตะกั่วสี่เหลี่ยมทึบขนาด 20 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว สูง 6 นิ้ว
- ค้อนเงินและเกรียงเงิน สำหรับทรงก่อพระฤกษ์
- อิฐปิดทอง เงิน นาก พันผ้าสีชมพู อย่างละ 3 แผ่น สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อ ระยะเวลาการก่อสร้างสะพานพุทธยอดฟ้าใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2472
ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์การก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า
ในขณะที่กำลังก่อสร้างได้มีการบันทึกเหตุการณ์เป็นภาพยนตร์ ซึ่งฟิล์มภาพยนตร์ถูกพบในกรุภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง จากการรถไฟแห่งประเทศไทย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการถ่ายทำเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงการก่อสร้าง มิได้นำมาตัดต่อเป็นเรื่องออกฉาย คาดว่าน่าจะถ่ายในช่วงราว พ.ศ. 2473 ที่สะพานเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ประมาณครึ่งทาง
ส่วนสำคัญของภาพยนตร์คือ หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต กับทีมงาน กำลังขึ้นกระเช้าเครนก่อสร้างสะพานพุทธยอดฟ้า เพื่อถ่ายภาพจากมุมสูงด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์แบบมือหมุน และตัดมาให้เห็นภาพลองเทกจากมุมกล้องที่ไม่เพียงแต่จะถ่ายเจาะการดำเนินงานก่อสร้าง หากยังถ่ายภาพภูมิทัศน์อันกว้างไกลของพระนครในสมัยนั้นอีกด้วย
6 เมษายน 2475 พิธีเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้า
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 วันที่ระลึกมหาจักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ (แทนสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว) กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ มีพระราชดำรัสตอบแล้ว ได้เวลาอุดมมงคลฤกษ์เวลา 08.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ซึ่งบริษัทดอร์แมน ลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน
จากนั้นเสด็จขึ้นประทับเหนือพระราชยานพุดตานทองเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค (ทางบก) ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี และประทับทอดพระเนตรกระบวนเรือรบแล่นผ่านลอดสะพานพระพุทธยอดฟ้า แล้วเสด็จลงประทับเหนือพระราชบัลลังก์บุษบกในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ทางน้ำ) จากฝั่งธนบุรีกลับยังท่าราชวรดิฐฝั่งพระนคร
ในวันพิธีเปิดสะพาน นายเจ. รักค์ ( Mr. J. Ruck ) ผู้แทนของบริษัท ดอร์แมน ลอง ได้นำเหรียญที่ระลึกการเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม สำหรับแจกเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือในการก่อสร้างอีกด้วย
เมื่อสะพานพุทธเชื่อมสองฝั่งฟากแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่บริเวณเชิงสะพานทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีจึงกลายเป็นย่านชุมชนคึกคัก โดยฝั่งพระนครเกิดย่านการค้าสำคัญ คือ ปากคลองตลาด และพาหุรัด และเชื่อมเส้นทางการค้าเดิม อย่างย่านสะพานหัน สําเพ็ง ราชวงศ์ และทรงวาดส่วนทางฝั่งธนบุรีมีย่าน บ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือเรียกสั้นๆ ว่า บ้านสมเด็จ (อดีตเคหสถานของตระกูลบุนนาค) และอีกย่านเกิดใหม่ที่สำคัญในฝั่งธนบุรีอันผลสืบเนื่องจากการเปิดสะพานพุทธ คือ ย่านวงเวียนเล็ก ซึ่งในอดีตเป็นจุดต่อรถ ทั้งรถม้า รถสามล้อ มารอรับผู้โดยสารอยู่รอบวงเวียนเล็ก โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนวงเวียนเล็กจะคึกคักมาก ริมถนนย่านนั้นก็เปิดเป็นร้านต่าง ๆ รวมทั้งมีแหล่งมหรสพให้ความบันเทิงอย่างโรงลิเก โรงภาพยนตร์
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- นิทรรศการออนไลน์ เรื่อง สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
- บทความออนไลน์ เรื่อง พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475
- บทความออนไลน์ เรื่อง ปฐมบรมราชานุสรณ์ ราชนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1
- บทความออนไลน์ เรื่อง กำเนิด “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงหนังติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย
อ้างอิง
กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.
พีรศรี โพวาทอง. (2564). สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ. สถาบันพระปกเกล้า.
ชาตรี ประกิตนนทการ และวิชญ มุกดามณี. (2566). วัตถุศิวิไลซ์ 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทศวรรษ 2390-2470. สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ.
Singha Magazine. (4 กุมภาพันธ์ 2563). THE SINGHA STORY ตอน เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนเส้นทาง ของตระกูลภิรมย์ภักดี ไปตลอดกาล. http://singhamagazine.com/2020/02/the-singha-story-ep2
Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์). (16 มิถุนายน 2564). ก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (2473). https://youtu.be/XaLn_fLAndk?si=EXNBkatjJNe9GLdy
ผู้เรียบเรียง
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.