หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ที่จังหวัดพัทลุง แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดตรัง ในระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม พ.ศ. 2471 รวมระยะเวลา 3 วัน เพื่อทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองและภูมิประเทศอันงามตามธรรมชาติ ได้แก่ ธารน้ำตก เกาะลิบง เป็นต้น ตลอดจนเสด็จเยี่ยมเยือนและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรในจังหวัดตรัง
จังหวัดตรัง
“เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา”
(คำขวัญประจำจังหวัดตรัง)
จังหวัดตรัง เป็นหนึ่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ในอดีตเรียกว่า “เมืองทับเที่ยง” เคยเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม และเป็นแหล่งค้าขายกับต่างประเทศ จึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอย่างมาก จะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของภาษา สถาปัตยกรรมบ้านเรือนตั้งตระหง่าน และอาหารที่ได้รับการโจษขานในหมู่นักท่องเที่ยวว่า “เป็นจังหวัดแห่งอาหารอร่อย” นอกจากนี้จังหวัดตรังยังมีทรัพยากรดินและน้ำอันอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูก จังหวัดตรังจึงเป็นจังหวัดแรกที่มียางพาราต้นแรกที่เป็นสายพันธุ์มาจากมาเลเซีย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2471
เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จถึงจังหวัดตรัง ทรงเสวยเครื่องว่างและพระกระยาหารที่ประทับแรม ตำหนักผ่อนกาย พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองให้ทรงเก็บไว้ระหว่างที่ประทับอยู่ในจังหวัด หลังจากนั้นได้เสด็จธารน้ำตก ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อที่ข้างลำธารแล้ว เสด็จประทับแรมที่พระตำหนักผ่อนกาย จังหวัดตรัง
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2471
เวลา 10.00 น. ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ยังศาลากลางเมืองตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (อ.ท. พระอรรถโกวิทวที) กราบบังคมทูลว่าชาวเมืองทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ได้พร้อมใจกันจัดการรับเสด็จด้วยความสวามิภักดิ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า
“ตั้งใจประสงค์ว่าจะเที่ยวตรวจตราตามหัวเมืองในพระราชอาณาเขตต์ในเวลามีโอกาสจะได้ไปทั่วทุกมณฑลเพื่อจะได้รู้เห็นด้วยตนเอง ซึ่งกิจการแลภูมิสถานบ้านเมือง กับทั้งความสุขทุกข์ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”
นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบที่กล่าวถึงภูมิสถานบ้านเมืองและภูมิประเทศอันงานตามธรรมชาติของจังหวัดตรัง ความว่า
“ตั้งแต่เราผ่านเขตต์จังหวัดพัทลุง ตลอดจนมาถึงเมืองตรัง ได้สังเกตเห็นพื้นที่แผ่นดินอุดมสมบูรณ์สมควรแก่กสิกรรม มีเรือกสวนไร่นาทั้งที่มำมาแล้วแต่ก่อน แลที่กำลังโก่นสร้างทำขึ้นใหม่เป็นอันมากตลอดทางที่มา ก็มีความยินดีอย่างหนึ่งซึ่งเห็นชัดว่าจังหวัดตรังกำลังเจริญด้วยโภคทรัพย์”
เวลา 15.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งไปโรงพยาบาลของมิชชันนารีอเมริกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกราบบังคมทูลเบิกคณะมิชชันนารีอเมริกันแล้ว ทอดพระเนตรโรงพยาบาลแล้ว และทรงรถยนต์พระที่นั่งไปโรงเรียนสตรีของมิชชันนารี เสวยพระสุธารสเครื่องว่าง ณ ที่นี้แล้ว
เวลา 16.00 น. ทรงรถยนต์ประพาสเมืองแล้ว จึงเสด็จกลับตำหนักผ่อนกาย
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2471
เวลา 10.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งไปยังกันตังแล้ว ทรงเรือยนต์พระที่นั่งล่องลงไปตามลำน้ำถึงเกาะลิบง
เวลา 15.00 น. ทรงเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปยังจังหวัดระนอง โดยมีพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการราชนาวี เป็นผู้บังคับทางเรือ เรือเดินทางตลอดคืน
เกาะลิบง จังหวัดตรัง
เกาะลิบง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ที่ใช้เวลาในการเดินทางจากท่าเทียบเรือหาดยาวบ้านเจ้าไหมด้วยเรือหางยาวเป็นเวลา 30 นาที เกาะลิบกเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากมีป่าชายเลนขนาดใหญ่ และมีแหล่งหญ้าทะเลเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธ์อย่าง “พะยูน” ซึ่งสามารถพบได้บ่อยครั้งบริเวณรอบ ๆ เกาะแห่งนี้ เกาะลิบงได้รับจากพัฒนาจากภาครัฐด้วยการสร้างสะพานทอดไปยังทะเลความยาว 1 กิโลเมตร เป็นทางให้นักท่องเที่ยวเดินไปยัง “หอชมวิถีสัตว์น้ำ” ที่มีลักษณะเป็นหอคอยสูง 5 ชั้น สามารถมองวิวทิวทัศน์ของเกาะลิบงและทะเลอันดามันได้สุดสายตา นอกจากนี้เกาะลิบงยังมีสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็น “บ่อน้ำจืดกลางทะเล” ที่เป็นแหล่งน้ำจืดของนกทะเลและชาวบ้านในเกาะใช้เป็นแหล่งอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในยามหน้าแล้ง
เอกสารอ้างอิง
สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. สถาบัน.
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.