คำว่าใจดีกับตัวเอง พอสรุปได้ว่า หมายถึง การปฏิบัติต่อตัวเราเองด้วยความเห็นอกเห็นใจ ให้ความสำคัญ
กับตัวเอง ไม่ตัดสินตัวเองในแง่ร้าย ให้อภัยตัวเองเมื่อพบกับความผิดพลาด ให้โอกาสพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน การใจดีกับตัวเอง ไม่ใช่การปล่อยชีวิตให้หยุดนิ่ง จนไม่พัฒนาตัวเองแต่เป็นการยอมรับตัวเองอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็น เข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบ และทำผิดพลาดได้
หนังสือชื่อเรื่อง ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้ เขียนโดย หมอจริง คุณหมอเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ทำงานอยู่ที่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณหมอมีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต มีผลงานให้ติดตามผ่านยูทูป หนังสือ หนังสือที่คุณหมอเขียนส่วนใหญ่ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต โดยคุณหมอนำเรื่องราวในชีวิตประจำวันประสบการณ์การรักษาคนไข้ มาถ่ายทอดเพื่อการพัฒนาตนเอง
สัญญาณเตือนอะไรที่เราควรกลับมาใจดีกับตัวเอง เช่น ช่วงที่เราคิดว่าตัวเองไม่ดีพอกับอะไรเลย หรือช่วงที่มีการตำหนิตัวเองบ่อย ๆ ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง “ว่าควรกลับมาใจดีกับตัวเองได้แล้ว” ประโยคที่เอาไว้ให้กำลังใจตัวเอง พูดคุยกับตัวเอง เช่น ตรงนี้นิดเดียว ช่างมัน ทำใหม่ หรือบางคนเลือกวิธีที่จะใจดีกับตัวเองด้วยเปย์ตัวเอง ใช้เงิน ใช้เวลา พาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ สบายใจ กินอาหารที่อยากกิน หาเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้นให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ ซึ่งถ้าได้ทำบ่อยๆ จะส่งผลดีต่อหัวใจ ช่วยให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตใจของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน
การปฏิบัติตัวเพื่อใจดีกับตัวเอง สรุปได้ 3 วิธี
1. ยอมรับข้อเสีย หาข้อดี รู้จักข้อดีของตัวเอง เช่น พูดไม่เก่ง สิ่งที่เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็นคือเราอาจจะเป็นคนพูดน้อย การใจดีกับตัวเองพอรู้ว่าตัวเราเองไม่พูดไม่เก่ง ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหลีกหนีจากสังคม หรือพอใจที่อยู่คนเดียว จนไม่คิดจะพัฒนาตนเอง เราสามารถพัฒนาตัวเองด้วยการฝึกฝน หาวิธีการในการที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้ จนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเราก็สามารถทำได้
2. ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เมื่อเราทำผิดพลาดในชีวิต คิดไว้เสมอว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเราเองก็อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน จึงไม่แปลกถ้าเราจะทำผิดพลาดในเรื่องที่เราไม่รู้ ดังนั้น การมองตัวเองในแง่ลบหรือกล่าวโทษตัวเองซ้ำ ๆ จากความผิดพลาดของตัวเองก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีคนจำนวนมาที่ยอมรับกับความผิดพลาดของคนอื่นได้ แต่ลืมความผิดพลาดของตัวเองไม่ได้ รู้สึกดีที่จะให้อภัยคนอื่น แต่รู้สึกแย่ที่จะให้อภัยตัวเอง
3. ฝึกเป็นคนที่มียืดหยุ่น ความยืดหยุ่น ในที่นี้หมายถึง ความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผิดหวัง ไม่สบายใจ โดยเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านไปแล้ว คนที่ความยืดหยุ่นจะสามารถกลับไปเป็นคนเดิม คนที่ร่าเริง ทำงาน ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอยืมหนังสือเพื่อใช้บริการได้ที่ห้องสมุด มสธ. ตรวจสอบสถานะ