พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเว้นท์เวอร์ธ (Wentworth) ในเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเช่าระยะยาว 20 ปี มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ และนับว่ามีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระตำหนักที่เคยประทับมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและดูแลง่าย องค์พระตำหนักเป็นแบบสมัยใหม่แนวจอร์เจียน (Georgian) สีขาว มีสองปีก ปีกละ ประมาณ 3-4 ห้องในแต่ละชั้น ชั้นล่างของปีกหน้ามุข มีห้องประทับรับแขกห้องเสวย ห้องเครื่อง (ครัว) และห้องพักอาหาร (Pantry) เล็ก ๆ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตและหม่อมมณี สิริวรสาร (ชื่อเดิม หม่อมมณี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา) พร้อมบุตร ได้ย้ายเข้ามาร่วมพระตำหนักด้วยในภายหลัง
ช่วงนี้เป็นภาวะสงคราม ซึ่งมีเครื่องบินของเยอรมันไปทิ้งระเบิดที่อังกฤษ รัฐบาลจึงให้ทุกบ้านเย็บผ้าดำติดกับม่านหน้าต่างทุกบ้าน เพื่อทำให้แสงสว่างเล็ดลอดออกไปในตอนกลางคืนให้เครื่องบินของศัตรูเห็นได้ว่าเป็นที่ซึ่งมีอาคาร แจกหน้ากากป้องกันก๊าซ (gas masks) ให้ประชาชนทุกคน รวมทั้งแจกจ่ายคูปองแบ่งปันอาหารและน้ำมัน (rations) ด้วย นับว่าเป็นภาวะที่ต้องทรงลำบากเช่นเดียวกับชาวบ้านอังกฤษทั้งหลาย
บ้านสแตดดอน (Staddon) ที่ประทับชั่วคราวในภาวะสงคราม
พ.ศ. 2483 สงครามได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการทิ้งระเบิดอย่างหนักในแถบลอนดอนและเขตอุตสาหกรรม จึงมีการอพยพครอบครัวของพระองค์ไปประทับที่ตอนเหนือของจังหวัดเดฟเว่น (Devon) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ ซึ่งได้ทรงเช่าที่ประทับชั่วคราวเป็นบ้านหลังใหญ่และเห็นอ่าวบิ้ดดิฟอร์ด (Bideford) และอพยพเข้าไปที่นั่นในช่วงฤดูร้อน หรือประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ซึ่งหม่อมมณีในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เขียนถึงพระตำหนักนี้ไว้ว่า
“…บ้านที่เราไปเช่าอยู่ Devon นั้นสวยงามอยู่มาก มีสวนดอกไม้ใหญ่และสนามหญ้ากว้างขวาง ตั้งอยู่ในแถบประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เป็นบ้านนอกจริง ๆ ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ๆ มาก แต่อาหารการกินกลับบริบูรณ์กว่าทางใต้ เพราะไม่มีคนอาศัยมากนัก ปัญหาอาหารขาดแคลนจึงไม่มี”
จากการสืบค้นของนายบริสโตว์ (Mr. M.J. Bristow) นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้สนใจพระราชประวัติช่วงนี้มากเป็นพิเศษผู้ซึ่งได้สอบถามไปที่นักจดหมายเหตุประจำจังหวัดเดฟเว่นและสตรีท้องถิ่นผู้หนึ่งเชื่อได้ว่า บ้านที่ทรงเช่านี้มีชื่อว่า สแตนดอน (Staddon) อยู่ที่เมืองแอปเปิ้ลดอร์ (Appledore) ซึ่งอยู่ใกล้อ่าวมากกว่าบิ้ดดิฟอร์ด โดยนางคล้าก (Sheila Mary Clarke) ซึ่งเคยอยู่ที่บ้านนั้นแจ้งว่านายแพทย์ผู้หนึ่งเล่ากับเธอว่าเคยรักษาอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขณะประทับอยู่ที่บ้านนี้ เพราะทรงแพ้เกสรดอกไม้ต้นมิโมซ่า (Mimosa tree) ซึ่งอยู่ในสวน บ้านหลังนี้มีสนามเทนนิสและป่าละเมาะซึ่งบริบูรณ์ไปด้วยดอกแดฟโฟดิลและดอกบลูเบลล์ ห้องนอนใหญ่ในตัวบ้านเคยมีลิ้นชักลับสำหรับซ่อนของมีค่า ส่วนสโมสรชนบทนั้นคงจะเป็นปราสาทเคนวิธ (Kenwith Castle) ซึ่งมีสระและต้นวิลโล่ ปัจจุบันเป็นโรงแรม ส่วนนักจดหมายเหตุอ้างแหล่งข้อมูลบุคคลเพียงคนเดียวว่าประทับที่ โอลด์ แมนเนอร์ เฮาส์ (Old Manor House) หมู่บ้านดิ้ดดิเวล (Diddywell) เมือง นอร์ธแธม (Northam) ปัจจุบันแสตดดอนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แสตดดอน และลิตเติ้ลแสตดดอน ปัจจุบันเป็นบ้านส่วนบุคคล
Lake Vyrwny Hotel ที่ประทับชั่วคราวแห่งที่ 2 ในภาวะสงคราม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้ามองดูเหตุการณ์และทรงคอยฟังข่าวสงครามโลกอย่างใกล้ชิด เพราะทรงต้องรับผิดชอบผู้คนในครอบครัวของท่านหลายคน โดยรับสั่งว่า ความจริงการประทับอยู่ที่ Devon นี้ก็มีความปลอดภัยพอสมควร แต่ท่านก็ทรงเป็นห่วงครอบครัวของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ซึ่งมีเด็กอ่อน ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยเช่าโรงแรมประทับที่อยู่ลึกเข้าไปอีกที่นอร์ธเวลส์ (North Wales) ชื่อโรงแรมเลคเวอร์นี่ (Lake Vyrwny Hotel) เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ล้อมรอบด้วยป่าละเมาะ เป็นที่ซึ่งปลอดภัยจากการทิ้งลูกระเบิดเพราะไม่มีเมืองใหญ่หรือโรงงานที่สำคัญ ๆ ทรงเช่าห้องชุดสำหรับสองพระองค์และครอบครัวพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เท่านั้น ส่วนพระประยูรญาติและข้าราชบริพารต่างอยู่กันที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) หรือพระตำหนักคอมพ์ตัน
ในระหว่างนั้นพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 7 นั้นทรงอ่านหนังสือพิมพ์และทรงฟังข่าวจากวิทยุเกี่ยวกับความเป็นไปของสงครามเป็นประจำ บางครั้งทรงพระราชดำเนินและทรงฉายภาพทิวทัศน์ไปพลาง บางครั้งทรงพระราชนิพนธ์พระราชประวัติ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงถักเสื้อไหมพรมพระราชทานโอรสของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ โดยได้ประทับอยู่โรงแรมนี้จนถึงฤดูหนาว อากาศเริ่มหนาว และชื้นมาก จึงทำให้พระโรคพระหทัยกำเริบหนัก ทรงมีพระอาการหอบมาก หายใจไม่ออก และทรงปวดร้าวพระหฤทัย เมื่อเสวยยาก็ทรงทำให้มีพระอาการอ่อนเพลียเหน็ดเหนื่อยมาก ดังนั้นพอเข้าฤดูใบไม้ผลิของช่วง ค.ศ. 1972 จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับไปประทับที่คอมพ์ตัน เฮ้าส์อีกครั้ง ซึ่งหม่อมมณีฯ เขียนไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า
“…ถ้าฉันจะตายก็ขอให้ตายสบาย ๆ ในบ้านช่องของเราเองดีกว่าที่จะมาตายในโรงแรม…”
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน
หลังจากเสด็จกลับมาประทับที่คอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House) พระอาการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ดีขึ้น มีหมอ Lewellan ที่อาศัยอยู่ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ มาถวายการรักษาและถวายโอสถทุกวันเว้นวัน พระอาการเจ็บหทัยเบาบางลงขึ้นมาก ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1942 พระอาการของพระองค์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ทรงเริ่มแจ่มใส ทรงรับสั่งคุยกับผู้เข้าเฝ้าฯ ได้ ทรงสำราญกับเด็ก ๆ และในช่วงสุดสัปดาห์ของเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 มิสเตอร์เครกได้มาเข้าเฝ้าและทูลกระหม่อมกราบบังคมทูลว่า พระตำหนักเวนคอร์ตในเมืองเคนท์ที่ทรงปิดไว้อยู่ในเขตอำนาจทหารถูกยึดครอง (Commandeered) เป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษ ควรที่จะส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนักก่อนที่จะส่งมอบเป็นทางการแก่เจ้าหน้าที่ทหาร
ครั้นเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก พระองค์ทรงทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้นัดกับมิสเตอร์เครกให้ตามเสด็จไปพระตำหนักเวนคอร์ตในวันนั้น จึงทรงรับสั่งกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ว่า
“จะไปไหนก็ไป วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงเสด็จไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยในเช้าวันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพรและฉลองพระองค์แขนยาว เสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย แล้วบรรทมต่อ โดยต่อมานางพยาบาลพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระหทัยวาย ไม่มีผู้ใดทราบว่าเสด็จไปประทับ ณ สรวงสวรรค์ ณ เวลาใดกันแน่
ซึ่งเหตุการณ์นี้หม่อมมณีฯ ได้เขียนเล่าไว้ว่า วันนั้นหลังจากพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จออกไปแล้ว พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ทรงเข้าไปนั่งข้างพระที่บรรทมของพระองค์ในห้องบรรทม หลังจากนั้นประมาณ 10 โมงเช้าพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ก็ทรงวิ่งผลุนผลันเข้ามา หน้าตาซีดเซียว พลางพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า
“เธอเร็ว ๆ เข้า พ่อสิ้นใจแล้ว เวลานี้กำลังขอร้องให้ตำรวจช่วยสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อให้เสด็จกลับมาโดยเร็วที่สุด”
พระปกเกล้าฯ องค์ราชันผู้เสด็จไปประทับ ณ สรวงสวรรค์
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วจึงรีบเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักคอมพ์ตันทันที ด้วยเหตุการณ์สวรรคตที่เกิดขึ้นแบบกระทันหัน สิ่งแรกที่ต้องทำ คือเริ่มด้วยการขออนุญาตทางการอังกฤษเป็นการพิเศษ เพื่อเก็บพระบรมศพไว้ที่พระตำหนักคอมพ์ตันเกิน 24 ชั่วโมง เพราะกฎหมายอังกฤษมีบอกไว้ว่าทุกคนเก็บศพคนตายไว้ในบ้านเกิน 24 ชั่วโมงไม่ได้ แต่ทางรัฐบาลอังกฤษได้ยอมอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ตั้งพระบรมศพได้ถึง 3 วัน เพื่อให้พระญาติและคนไทยที่อยู่ในประเทศอังกฤษได้มีโอกาสมากราบบังคมพระบรมศพตามธรรมเนียมประเพณี
ในตลอดระยะเวลา 3 วันที่ตั้งพระบรมศพไว้ที่คอมพ์ตัน เฮ้าส์ มีพระญาติพระวงศ์ คนไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งทุกคนมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยเดินทางมาไม่ขาดสายเพื่อถวายความเคารพพระบรมศพ ซึ่งตั้งอยู่ในห้องพระบรรทมที่พระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์ โดยมีธงไตรรงค์ติดอยู่ที่ฝาผนัง เมื่อครบ 3 วันจึงได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นรถคันใหญ่ มีธงไตรรงค์คลุมหีบพระบรมศพ และมีขบวนรถยนต์ติดตามรถพระบรมศพออกเดินทางจากพระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์ไปยังสุสานโกลเดอร์สกรีน (Golder’s Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน
หลังจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงเสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ ต่อไป ตลอดระยะเวลาสงครามได้เสด็จไปกรุงลอนดอนสัปดาห์ละครั้งสองครั้งเพื่อทรงช่วยจัดสิ่งบรรจุหีบห่อส่งไปยังทหารแนวหน้าร่วมกับบรรดาสุภาพสตรีอาสาสมัคร ต่อมา 2 ปีหลังจากสงครามสงบลงจึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ เพื่อเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยตามคำกราบเชิญของคณะรัฐบาลที่ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ ทั้งนี้พระองค์ทรงเสด็จกลับฯ พร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาพร้อมกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งในปัจจุบันพระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์นั้นเป็นบ้านส่วนบุคคล
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- STOU Storian Podcast EP.14 พระปกเกล้าฯ ราชันผู้ทรงสละราชสมบัติ
- บทความออนไลน์ พระชนมชีพรัชกาลที่ 7 หลังทรงสละราชสมบัติ
- นิทรรศการออนไลน์ พระตำหนักที่ประทับในต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
การวิก จักรพันธุ์, ม.จ., นรุตม์ (เรียบเรียง). (2539). ใต้ร่มฉัตร: หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. แพรวสำนักพิมพ์.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544). ‘บ้าน’ ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี 2543. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. (2535). ชีวิตเหมือนฝัน. ชวนพิมพ์.
เรียบเรียงโดย
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.