๕๑
พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์ (Glen Pammant)

พระตำหนักที่ประทับหลังใหม่จากย้ายมาจากพระตำหนักโนล ตั้งอยู่ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ทางเหนือของจังหวัดเซอร์เร่ย์เช่นกันแต่ใกล้เมืองสเตนส์ (Staines) ซึ่งอยู่ในจังหวัดมิลเดิลเซกซ์ (Middlesex) พระตำหนักขนาดเล็กกว่าพระตำหนักโนล แต่ก็ยังใหญ่โตและมีเนื้อที่กว้าง โดยพระตำหนักแห่งนี้ตามคำพระราชดำริว่า ยังต้องทรงดำรงพระเกียรติยศอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามไปต่ออีกสักระยะหนึ่ง ทรงตั้งชื่อบ้านโดยมีคำนำหน้าว่า Glen ที่แปลว่าหุบเขา ตามลักษณะภูมิประเทศของที่นั่น และพระราชทานนามพระตำหนักโดยรวมว่า Glen Pammant ซึ่งทรงกลับตัวอักษรจากคำวลีว่า “ตามเพลงมัน” ซึ่งสะกดจากภาษาอังกฤษว่า “Tam Pleng man” อันหมายถึง “แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น”

ทัศนียภาพของพระตำหนัก

            หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย อมระนันท์ พระนัดดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่เวอร์จิเนียวอเตอร์กับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ท่านพ่อ ซึ่งทำหน้าที่ราชเลขานุการส่วนพระองค์อยู่ในขณะนั้น บรรยายภาพพระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์และบรรยากาศโดยรอบพระตำหนักไว้ว่า

“ประตูรั้วเหล็กดัดด้านหน้าของพระตำหนักอยู่ที่ตีนเนินเขา มีถนนโรยกรวดคดเคี้ยวขึ้นเนินไป ผ่านต้นอเซเลีย (azalea) นับร้อยต้นทางด้านซ้ายและต้นโรโดเดนดรอน (rhododendron) ดอกม่วงใหญ่ทางด้านขวา หลังต้นอเซเลียมีต้นสนยูว์ (yew trees) มหึมา ทำให้ไม่อาจแลเห็นพระองค์ตำหนักหรือสนามใหญ่จนกว่าจะเลี้ยวโค้งสุดท้าย ด้านขวาของบริเวณที่จดรถหน้าพระตำหนักมีสวนหินขนาดใหญ่สวยงามครบถ้วนด้วยสระน้อยใหญ่และน้ำตกถนนเลี้ยวคดอ้อมพระตำหนักไปยังที่โรงจอดรถขนาด 7 คันด้านหลัง … พระตำหนักเป็นแบบวิคตอเรียน (Victorian) มี 3 ชั้น และห้องหับจำนวนมาก เช่น ห้องโถง ห้องสมุด ห้องรับแขก ห้องอาหาร และห้องนั่งเล่น… ห้องเหล่านี้เต็มไปด้วยเครื่องเรือนแบบอังกฤษ แต่ก็มีสิ่งของต่าง ๆ ของไทยอยู่ประปราย เช่น พระแสงประดับเพชรพลอย หีบพระโอสถมวนถมทอง และฉากสีแดงภาพตัวละครไทย 2 ตัว” (เข้าใจว่าเป็นนางรถจนากับเจ้าเงาะ ซึ่งภายหลังตั้งอยู่ที่ทางไปห้องพระบรรทมที่พระตำหนักใหญ่ วังศุโขทัย)

“ในส่วนของสวนนั้นกว้างใหญ่มาก จากองค์พระตำหนักเป็นเนินลาดลงไปยังสนามใหญ่ที่ปลายสุดมีสนามเทนนิสแบบแข็ง และจากนั้นเป็นสวนกุหลาบอันเป็นระเบียบ ส่วนทางด้านซ้ายมีทางเดินไปสู่บังกะโลไม้หลังหนึ่ง ทางด้านขวาของสนามหญ้า มีสวนผักกำแพงล้อมรอบและเรือนกระจกหลายหลังซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นผลไม้ต่าง ๆ หลากชนิด อีกทั้งดอกไม้สำหรับตัดปักแจกันตกแต่งพระตำหนัก แสดงว่าทรงถือหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามสมควร ส่วนด้านหลังพระตำหนักเป็นสวนสนและป่าละเมาะเป็นทางระหว่างเนิน ปกคลุมไปด้วยดอกไม้คลุมดินต่าง ๆ  เช่น บลูเบลล์ (bluebell) แดฟโฟด์ล (daffofil) และพริมโรส (primrose) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แลดูเป็นสีฟ้าสีเหลืองพลิ้วอยู่ในสายลม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะเสด็จลงมาทรงพระดำเนินกับสุนัขซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในช่วงบ่าย ๆ”

พระราชกิจวัตร ณ พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์

สำหรับพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นจะเสวยพระกะยาการเช้าในห้องพระบรรทม ส่วนพระญาติจะเสวยและรับประทานอาหารเช้าตอนสองโมงเช้าที่ห้องเสวยที่จัดอาหารแบบบุฟเฟ่ต์เป็นอาหารเช้าแบบอังกฤษ บางครั้งรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จลงมาเสวยด้วย สำหรับอาหารกลางวันตอนบ่ายโมงและอาหารค่ำตอนสองทุ่มนั้นก็เป็นอาหารฝรั่งเช่นกัน เริ่มด้วยซุป ตามด้วยปลาแล้วก็เนื้อ จบด้วยของหวาน ขนม ผลไม้

ในช่วงบ่ายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มักจะทรงพระราชดำเนินเล่นที่ป่าละเมาะ ในช่วงฤดูร้อนพระองค์จะทรงกอล์ฟหรือเทนนิส บางครั้งนายบันนี่ ออสติน (Bunny Austin) นักเทนนิสชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในเวลานั้นได้ไปเข้าเฝ้าและเล่นคู่กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รวมถึงปฏิบัติตามแบบฉบับคนอังกฤษ คือ เสวยพระสุธารสในช่วงบ่ายประมาณ 17.00 น.

นวนิยายทรงโปรดของรัชกาลที่ 7

หลังพระกระยาหารค่ำแล้วจะประทับอยู่กับพระประยูรญาติในครอบครัวที่อบอุ่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ ตำราการทำสวน และนวนิยายของซัมเมอร์เซท มอห์ม (Somerset Maugham) และอีเวอร์ลิน วอห์ (Evelyn Waugh) หรือแม้แต่นวนิยายแบบขำขันของ พี.จี.วูดเฮาส์ (P.G.Wodehouse)

นวนิยายของนักเขียนดังกล่าวนับเป็นทรัพยากรสารสนเทศทรงคุณค่าในคอลเลกชันหนังสือส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 ที่มีให้บริการในคลังสารสนเทศดิจิทัลของห้องสมุด มสธ. สามารถอ่านนวนิยายแบบออนไลน์

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่ตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์ (Glen Pammant) พระพลานามัยของพระองค์ไม่ค่อยดีนัก ทรงแพ้อากาศหนาวชื้น ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวจึงมักเสด็จไปยังสถานที่ที่อุ่นกว่า พระองค์ทรงประทับอยู่พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์ได้ประมาณ 2 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2478 – 2480 (ค.ศ. 1935-1937) พระอาการของพระองค์ประชวรหนักขึ้น ประกอบกับไม่ต้องทรงรักษาพระเกียรติยศมากเท่าเดิม จึงทรงติดสินพระราชหฤทัยขายพระตำหนัก “ตามเพลงมัน” และซื้อพระตำหนักหลังใหม่ที่มีขนาดเล็กและเหมาะแก่การดูแลรักษามากกว่า ชื่อว่า “พระตำหนักเวนคอร์ต” และในปัจจุบันพระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ใช้ชื่อว่า Greywell Court และ Greywell House เป็นบ้านส่วนบุคคล

การวิก จักรพันธุ์, ม.จ., นรุตม์ (เรียบเรียง). (2539). ใต้ร่มฉัตร: หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. แพรวสำนักพิมพ์.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544). ‘บ้าน’ ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี 2543. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. (2535). ชีวิตเหมือนฝัน. ชวนพิมพ์.

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน