พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์พระองค์แรกในสยามที่เป็น “นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น” พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ ทรงสะสมกล้องชนิดต่าง ๆ และทรงโปรดกล้องและการถ่ายภาพยนตร์ เมื่อครั้นเสด็จประพาสจะทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดพระหัตถ์เสมอ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” เป็นภาพยนตร์ที่พระองค์ทรงถ่ายเอง และบางส่วนโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่น หรือกรมหลวงถ่าย โดยมีทั้งภาพยนตร์สารคดีบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ซึ่งหลายเรื่องถูกยกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ และบางเรื่องยังโดดเด่นและคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 7 กับพระราชนิยมในด้านการถ่ายภาพยนตร์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสนพระราชหฤทัยการถ่ายรูปมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในคราวการประกวดรูปถ่ายในงานวัดเบญจมบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2448 พระองค์ทรงส่งรูปภาพชื่อว่า “ตื่น” เข้าประกวดและได้รับรางวัลเหรียญทองแดง เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นทรงเสด็จประพาสในต่างประเทศ ทรงซื้อกล้องและสะสมกล้องต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพสามมิติ และกล้องแบบถ้ำมอง พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยภาพยนตร์และโปรดทอดพระเนตรภาพยนตร์ร่วมกับเด็ก ๆ ในคืนวันพุธ เวลา 19.00 น. ในสมัยนั้นภาพยนตร์ยังเป็นหนังเงียบ เวลาฉายจะมีแต่ภาพเคลื่อนไหวไปมาบนจอเท่านั้น บางคราวจะทรงบรรเลงเพลงประกอบ และพระองค์เคยมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการรับชมภาพยนตร์ว่า
“ถ้าเจ้าดู (หนัง) ด้วยความสังเกตอาจนำประโยชน์มาได้อันมาก สังเกตดูเวลาหนังที่มาจากอเมริกา เจ้าเคยนึกหรือไม่ว่า ทำไมจึงจำเริญได้อย่างยิ่ง เมื่อไม่นานมานี้ ไม่กี่ร้อยปี ประเทศอเมริกาเป็นป่าเสียด้วยซ้ำ บางคนมีรถคันหนึ่ง ม้า 2 ตัว มีลูกเมียครอบครัว เขาสู้ออกไปบุกป่าฝ่าดง … เขามีความเพียรพยายามและกล้าหาญนั่นแหละเป็นทุนสำคัญ ถ้าเราใช้ความพยายาม เช่นพวกอเมริกันในหนังเขาบ้างจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงแสวงหาประสบการณ์การถ่ายภาพยนตร์จากการเสด็จประพาสในต่างประเทศ เช่น หลังจากจบการศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส ก่อนเสด็จนิวัติสยาม พ.ศ. 2467 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด ทรงได้พบกับดาราฮอลลีวูดหลายท่าน อาทิ “ชาร์ลี แชปลิน” ดาราตลกคนดังแห่งยุคภาพยนตร์เงียบ “ดักลาส แฟร์แบงค์” ดาราคนโปรดของรัชกาลที่ 7 และ “แมรี่ พิคฟอร์ด” ผู้เป็นภรรยา ดาราและผู้ทรงอิทธิพลด้านภาพยนตร์ และในปี พ.ศ. 2474 ทรงเสด็จเยี่ยม Thomas Edison นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ และทอดพระเนตรโรงงานของโทมัส
ภาพยนตร์อัมพร
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะการถ่ายภาพยนตร์พระองค์ทรงได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน โปรดการถ่ายภาพยนตร์เช่นกัน และทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงที่มีหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ของรัฐบาล ภาพยนตร์ส่วนพระองค์นี้ในระยะแรกเรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมา เปลี่ยนเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามนามของพระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับในรัชกาล บางส่วนทรงถ่ายเอง บางส่วนโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อื่น หรือกรมรถไฟหลวงถ่าย สามารถแบ่งเนื้อหาของภาพยนตร์อัมพร ดังนี้
- ภาพยนตร์สารคดี เช่น เรื่องนาลิวันรำเขนง ทรงถ่ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีการแต่งกายผู้รำเหมือนพิธีโล้ชิงช้า ภาพยนตร์การรำมอญ ทรงถ่ายเมื่อเสด็จฯ ปากลัด บางเรื่องก็ทรงถ่ายไว้ทอดพระเนตรในกลุ่มผู้ใกล้ชิด เช่นเรื่อง ภัตกรเรือนต้น
- ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีเฉลิมพระนคร 150 ปี ซึ่งจัดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 เป็นบันทึกภาพและข้อมูลพิธีฉลอง เช่น การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า และขบวนเสด็จฯ ข้ามสะพาน การเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 พิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชที่พระนครศรีอยุธยา มีพระสุรเสียงพระราชดำรัสในพิธีบวงสรวง
- ภาพยนตร์บันเทิง มีการดำเนินเรื่อง ตามที่มีร่องรอยหลักฐานมีอย่างน้อยที่สุด 4 เรื่อง ได้แก่ พระเจ้ากรุงจีน ชิงนาง ภาพยนตร์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่ไม่ทราบชื่อ และแหวนวิเศษ
สำหรับภาพยนตร์อัมพรที่โดดเด่นและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือ ภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” เป็นภาพยนตร์บันเทิงที่ฟิล์มภาพยนตร์ยังคงสภาพมาถึงปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ที่สุด และหอภาพยนตร์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมรดกของชาติตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2556
รัชกาลที่ 7 กับการสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้เพียงแต่ทรงถ่ายภาพยนตร์เป็นการส่วนพระองค์เท่านั้น ยังทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ภายในประเทศด้วย ในปี พ.ศ. 2473 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” (Amateur Cinema Association of Siam-A.C.A.S) เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กิจกรรมของสมาคม ได้แก่ การจัดประชุมสมาชิกเดือนละครั้งเพื่อนำภาพยนตร์ฝีมือของตนไปฉายให้ได้ติชมกัน การจัดฉายภาพยนตร์ให้แก่สมาชิกชมทุกเดือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และได้เสด็จมาร่วมทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นประจำอีกด้วย รวมถึงการจัดบริการต่าง ๆ เช่น การรับล้างฟิล์ม การพิมพ์สำเนาฟิล์ม การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์สมัครเล่น นอกจากนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ทำแหนบหรือเข็มชนิดหนึ่งด้วยทองคำแบบตราอาร์ม มีอักษรลงยาในวงตรา “ส.ภ.ส” เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งมีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบนตัวอักษร ในกรอบสี่เหลี่ยมตัดกันคล้ายแผ่นฟิล์มภาพยนตร์
นอกจากนั้น พระองค์ยังพระราชทานเงินสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง (โรงมหรสพติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย) เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสฉลองพระนคร 150 ปี โรงภาพยนตร์แห่งนี้ออกแบบโดย ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร ทรงเป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 ใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2476 ถือเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ สามารถรองรับผู้ชมได้มากกว่า 1,000 คน ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉาย คือ มหาภัยใต้ทะเล (Below the Sea 1933) ปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์และสาขาวิชาอย่างกว้างขวาง จากพระราชนิยมส่วนพระองค์สู่จุดเริ่มต้นของกิจการภาพยนตร์ในประเทศที่รุ่งเรือง และยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สถาบันพระปกเกล้า. (2558). ปกเกล้าธรรมราชา. ธรรมดาเพรส.
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, ศิริน โรจนสโรช. (ม.ป.ป.). ภาพถ่าย ภาพยนตร์และพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th
ธนพล นนทสุตวงศ์, รัชกร คงเจริญ และดวงรัตน์ ดีขั้ว. (2566). STOU Storian Podcast EP.6 จุดเริ่มต้น
ภาพยนตร์…สู่พระราชนิยมพระปกเกล้าฯ. https://library.stou.ac.th/2023/07/stou-storian-podcast-ep-6-history-of-cinema/
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.