๕๕
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสแคนาดา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้ระยะเวลานานถึง 7 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน – 28 กันยายน พ.ศ. 2474 โดยเส้นทางเสด็จฯ ผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชประสงค์ในการทรงรักษาพระพลามัย หลังการผ่าตัดต่อกระจกพระเนตรซ้าย และสำราญอิริยาบถ ตลอดทรงประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ในการเสริมสร้างมิตรภาพและความสัมพันธไมตรีที่ดีให้แก่ประเทศสยามและแคนาดา

รัชกาลที่ 7 ก้าวแรกสู่ “แคนาดา”

ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนแคนาดา รัฐบาลสยามได้ติดต่อกับประเทศที่จะเสด็จฯ ผ่าน และประทับ โดยมีการตอบโต้กันทางโทรเลขระหว่างหน่วยงานรัฐ ในเรื่องการนัดหมายการเตรียมความพร้อมในการเฝ้ารับเสด็จฯ ตลอดจนแผนอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทาง การเยือนสถานที่ต่าง ๆ และสิ่งของที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างกัน การเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปอเมริกาเหนือ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทาง ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ขึ้นเรือไปยังดินแดนฮ่องกงของอังกฤษ เพื่อประทับเรือเอมเพรส ออฟ เจแปน แวะเทียบท่าที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน และทรงเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน แล้วจึงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือ เมืองวิกตอเรีย มณฑลบริติชโคลัมเบีย ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา ใช้เวลาในการเดินทาง 7 วัน 20 ชั่วโมง ในระหว่างที่ประทับบนเรือพระองค์ต้องเผชิญกับความโคลงเคลงของเรือที่แล่นฝ่าคลื่นลมและหิมะ ทำให้เรือที่ประทับต้องเปิดหวูดอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้พระบรรทมหลับสนิทเป็นไปได้ยาก ประกอบกับ รัชกาลที่ 7 ทรงพระประชวรไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากโรคหลอดลมอักเสบและเชื้อมาลาเรีย แต่หลังจากที่เสวยยาควินิน พระอาการไข้จึงลดลง


เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2474 เรือที่ประทับแล่นมาถึงเรสร้อค สถานีกักกันโรคบนเกาะแวนคูเวอร์ โดยมีหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน พร้อมด้วยโอรส พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต “พระราชบุตรบุญธรรม” และนายสตีเวนส์ ที่ปรึกษาการต่างประเทศที่ล่วงหน้ามาเฝ้าฯ พร้อมกับ นายราลฟ์ เอซ์ แต่ทว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ เสด็จออกให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ไม่ได้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงเสด็จออกแทนพระองค์ ผู้สื่อข่าวแหม่มรายงานไว้อย่างละเอียดละออว่า

“ทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้าเฝ้าฯ พระอิริยาบถไม่แสดงพระอาการกระดากอายแม้แต่น้อย และทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการแคนาดา.. ซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว”

นับเป็นครั้งแรกในแดนฝรั่งในพระราชสถานะสมเด็จพระบรมราชินี ทรงฉายความทรงเป็น “กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน” สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนอันเป็นอารยะของประเทศเอเชียแห่งนี้ จากนั้นเรือได้เดินทางต่อไปยังเทียบท่ากับเรือเมืองแวนคูเวอร์ที่ซึ่งเสด็จฯ โดยรถไฟขบวนพิเศษไปทางทิศตะวันออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

พระราชกรณียกิจสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินเยือน
แคนาดา

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จฯ ออกจากแคนาดาทันทีหลังจากให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่มิช้าก็พระองค์เสด็จฯ กลับมายังดินแดนแคนาดาอีกครั้ง พระองค์ทรงประทับรถไฟขบวนพิเศษที่นครนิวยอร์ค มายังแคนาดาทางทิศเหนือ ถึงนครมอนตริออล โดยมีผู้ว่าราชการเมืองและข้าราชการเฝ้ารับเสด็จฯ พระองค์ทรงประทับที่โรงแรมริมทะเลสาบนอกเมือง และต่อมาพระองค์เสด็จฯ ถึงกรุงออตตาวา เมืองหลวงของประเทศแคนาดา โดยมีผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรี รับเสด็จฯ อย่างเป็นทางการ ณ สถานีรถไฟยูเนียน และทรงประทับ ณ ทำเนียบรัฐบาลและทอดพระเนตรรัฐสภา และร่วมเสวยพระกระยาหารกลางวันเป็นการภายใน ณ เนินเขารัฐสภากับผู้สำเร็จราชการ

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงประทับที่แบนฟฟ์สปริงโฮเตล ที่มีลักษณะคล้ายปราสาทล้อมรอบด้วยป่าและมีภูเขาสูงมีธารน้ำแข็งอยู่หลายแห่ง ในช่วงเวลาที่ประทับพระองค์อยู่ที่แคนาดา ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ โดยเป็นไปเพื่อทรงฟื้นฟูพระวรกาย ตลอดจนสำราญพระอิริยาบถพร้อมกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ และหม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร ผู้เยาว์ที่ทรงอุปการะเลี้ยงดู และกำลังศึกษาต่ออยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ


สำหรับพระราชกรณียกิจที่พระราชประสงค์จะทรงประกอบ แต่ไม่ทรงคุ้นเคยจะมีฝรั่งผู้ชำนาญโดยเสด็จฯ ถวายคำแนะนำ เช่น ในการทรงตกปลาด้วยเบ็ดตามลำน้ำ นอกจากนี้มีการรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงานชุมนุมกีฬาชาวสก็อตประจำปี (Scottish Banff Festival) และนายกสโมสรได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเงินแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นเครื่องหมายว่าได้ทรงม้า 100 ไมล์ ในระหว่างที่ประทัยอยู่ที่แบนฟฟ์ และเหรียญทองแดงแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ผู้ทรงได้ 50 ไมล์ นับว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงม้าเป็น แต่ไม่เคยปรากฏหลักฐานใด ๆ ว่าทรงม้าเป็นในสยาม ยกเว้นม้าแกลบที่ชายหาดหัวหิน ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงม้าเป็นตั้งแต่ศึกษาอยู่ในยุโรป และในประเทศสยาม จะเห็นได้จากพระองค์ทรงม้าตรวจพลสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ออกจากแบนฟฟ์มุ่งสู่เมืองแวนคูเวอร์ โดยทรงประทับแรมกลางทางที่หมู่บ้านน้ำพุร้อนแฮริสัน ในหุบเขาเฟรเซอร์ แคว้นบริติซโคลัมเบีย พระองค์สนพระราชหฤทัยในการอาบน้ำแร่ที่มีสรรพคุณบรรเทาโรค

วันที่  5 กันยายน พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงเมืองแวนคูเวอร์ จากนั้นประทับ เรือยนต์ติดอาวุธตอร์ปิโดสกีนา ของรัฐบาลแคนาดา หลังจากนั้นเสด็จฯ ประทับ ณ หมู่บ้านชายหาดควอลิคัม บนเกาะชายฝั่งแวนคูเวอร์

วันที่  12 กันยายน พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ลงเรือเอมเฟรสออฟแคนาดามุ่งสู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกาในเส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรแปซีฟิกมาทางเอเซียตะวันออก และเสด็จฯ มุ่งสู่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

รายงานกิจการ ประจำปี 2563 มูลนิธิ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ประชาธิปก-รำไพพรรณี. (2563). พระราชบันทึกความทรงจำในองค์ประชาธิปกเกี่ยวกับเมื่อเสด็จฯ ยังสหรัฐอเมริกา. มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
พันธดนย์ กิจชัยนุกูล. (2565). King Rama VII in Canada ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราสที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ. https://readthecloud.co/from-siam-to-canada-1931/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน