๕๗
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในปี พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้ระยะเวลาการนานถึง 7 เดือน เส้นทางเสด็จฯ ผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในระหว่างวันที่ 6 เมษายน – 28 กันยายน พ.ศ. 2474

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีความจำเป็นที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้ายที่แสดงอาการมาประมาณ 6 ปี และพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษากิจการงานของแต่ละประเทศ ตลอดจนทรงฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศที่เสด็จฯ พระราชดำเนินผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการศึกษาจนเป็นที่ประจักษ์

ความจำเป็นในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกามาก่อน เมื่อครั้นที่พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พระองค์และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับจากฝรั่งเศษ เพื่อทรงรักษาพระวรกายและทรงศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หากแต่การเสด็จฯ ในครั้งนี้ มีความจำเป็นเนื่องจาก พระเนตรกำลังจะบอด พระองค์ไม่สามารถทรงเอกสารใด ๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยแว่นขยายขนาดใหญ่ และในสมัยนั้นการแพทย์ของสยามยังไม่สามารถผ่าตัดประเภทนี้ได้ ประกอบกับก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงเคยรับการตรวจพระเนตรอย่างละเอียดที่สหรัฐอเมริกา จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงได้รับคำแนะนำจากนายแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงถือว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2474 เป็นโอกาสที่หาได้ยาก ทรงอธิบายไว้สรุปได้ ดังนี้

ในสมัยนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวสยามจะเดินทางไปยังแดนไกล เพื่อเที่ยวเล่นให้สำราญใจ เพราะไม่มีใครมีเงินส่วนตัวเพียงพอ ทั้งยังอาจได้รับการกล่าวหาว่าไม่รักชาติด้วยซ้ำ จึงมีแต่ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่การงาน ซึ่งโดยมากคือราชการงานเมือง เพื่อไปศึกษาต่อ หรือรักษาโลกเท่านั้น

การเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา

การเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานถึง 7 เดือน เนื่องจากระยะทางไกลต้องเดินทางผ่านหลายประเทศ และทรงพักพื้นหลังการผ่าตัดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงไว้ในพระราชบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาว่า

ต้องมีการเจราจาล่วงหน้ากับดินแดนที่จะเสด็จผ่านโดยเรือเดินสมุทรคือ ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ และญี่ปุ่น อีกทั้งกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเองการนี้ไม่ง่ายนักเพราะไม่เคยมีประมุขของประเทศอื่นใดเลยที่เคยเยือนจีนและญี่ปุ่น และแคนาดา นับว่าพระองค์ทรงได้ทรงทำ “สถิติโลก” ในทั้ง 3 กรณี

โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำรัสให้ใช้เงินพระคลังมหาสมบัติ คือ งบประมาณแผ่นดิน ใช้เป็นค่ารักษาพระองค์ จำนวน 100,000 บาท ที่จัดไว้ในงบประมาณประจำปีสำหรับการเสด็จประพาส และนอกจากนั้นให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ ซึ่งถือว่าเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และให้ใช้อย่างประหยัด เช่น ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีก็ให้จัดหาภายในประเทศ เครื่องแต่งกายข้าราชบริพารก็ให้จัดหาให้เหมาะสมแก่หน้าที่ไม่ใช่ตามชั้นยศ กำหนดให้มีแต่นางสนองพระโอษฐ์ตามเสด็จเพียง 13 ท่าน และประทับที่คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอลล์ มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเจ้าของถวายเป็นที่พักโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาการต่างประเทศของสยาม เดินทางล่วงหน้าเพื่อไปประชาสัมพันธ์ประเทศสยามและพระราชกรณียกิจ ได้แก่ การทำข่าวแจก การบรรยายตามสมาคมและสโมสรต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชาวอเมริกาได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

พระราชกรณียกิจสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเรือประทับแล่นถึงทวีปอเมริกาเหนือที่เมืองวิคตอเรียของประะเทศแคนาดา และเสด็จออกให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ หลังจากนั้นทั้งพระองค์เสด็จฯ โดยรถไฟขบวนพิเศษไปทางทิศตะวันออกยังสหรัฐอเมริกา และเข้าเขตประเทศในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่เมืองพอร์ทัล (Portal) มลรัฐนอร์ธดาโกต้า (North Dakota) ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ พระองค์ทรงประทับอยู่ 4 เดือน นอกจากเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย และทรงพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษากิจการงานต่าง ๆ ตลอดจนทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีในสหรัฐอเมริกา ดังนี้

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2474
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขึ้นรับเสด็จฯ ในนามประธานาธิปดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

“พระวรกายสันทัด พระน้ำหนักเพียง 98 ปอนด์ พระอิริยาบถละมุนละมัย และเป็นที่กล่าวขานว่าทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างดี และทรงเป็นกันเองตามแบบฉบับของประชาธิปไตยกับผู้ที่เข้าเฝ้าฯ”

“พระองค์ไม่ได้ทรงช้างเผือก หรือทรงมีพระสนมนางในเป็นร้อยแต่อย่างใด ทรงมีพระราชหฤทัยจงรักในสมเด็จพระบรมราชินีพระโฉมงามแต่พระองค์เดียว และพระราชทานสิทธิแก่สตรีและเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

ต่อมาพระองค์เสด็จประทับ ณ คฤหาสน์โอฟีร์ ฮฮล์ เมืองไวท์เพลนส์ มลรัฐนิวยอร์ค ที่ซึ่งมีการรับสั่งภายในว่า

“เราได้มาถึงที่ซึ่งจะเป็นบ้าน ของเราในช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ของการพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว เรารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งกับความปราถนาดีทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เห็นมาตลอดทาง”


วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อเมริกัน 4 รายเข้าเฝ้าฯ ที่นั่น เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์รายงานอย่างละเอียดในฉบับเช้าวันรุ่นขึ้น นับเป็นการวางจังหวะการประชาสัมพันธ์ที่ดีเหมาะเจาะยิ่ง โดย นายแฮโรลด์ เอ็น. เด็นนี่ ผู้สื่อข่าว The New York Times รายงานว่า

“เป็นที่ประจักษ์แต่แรกว่าทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวาง ไม่ธรรมดา ทั้งการปรัชญาการปกครอง เบสบอลล์ นักแสดงตลกชาร์ลี แชปลิน จนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยามประเทศ ทรงมีพระสมาธิ สติ ปัญญา บ่งบอกออกมาด้วยสายพระเนตรที่เปล่งประกาย ทรงตอบคำถามอย่างคล่องแคล่วและดูเหมือนจะทรงพระสำราญกับการนั้น”

ทรงอธิบายว่า ในสยามพระราชามีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และดำเนินการให้เขามีความสุข ทรงรับสั่งว่า ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะทรงตอบ แต่ได้รับสั่งว่า “ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ก็คือ “ระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปเยี่ยมประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ที่ทำเนียบขาวในช่วงเช้า


และในวันดังกล่าว พระองค์เสด็จฯ ยังทำเนียบขาวอีกครั้งในงานเลี้ยงที่ประธานาธิบดีจัดถวายอย่างเป็นทางการในเวลา 20.00 น. โดยหนังสือพิมพ์รายงานพิธีการของงานนี้อย่างละเอียด เช่นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

สง่างามสะดุดตาสมพระยศราชินีในฉลองพระองค์ผ้ายกทองหรู ซึ่งตัดเย็บให้พอเหมาะพอสมกับพระวรกาย ทรงสร้อยพระศอมกรตและพระสาง (หวี) ประดับด้วยมณีที่พระเกศา ซึ่งดำเป็นเงาสลวย


วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2474
มหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตัน (George Washington University) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จัดพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์สาขานิติศาสตร์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถทางรัฐประศาสนโยบาย เป็นปริญญาทางวิชาการฉบับแรกที่ทรงได้รับหลังจากที่สิ้นเสร็จพิธีการถวายปริญญาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พระองค์เดียวไปยังเมืองบอลติมอร์ เพื่อให้นายแพทย์วิลเมอร์ แห่งสถาบันวิลเมอร์ในบริเวณโรงพยาบาลจอห์นส์ ออพคินส์ ตรวจก่อนการถวายการรักษาต้อพระเนตรซ้าย


วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย สำหรับการผ่าตัดใช้เวลา 55 นาที โดยหมอรายงานว่า

“ได้เอาต้อกระจกในพระเนตรซ้ายออกแล้ว การรักษาไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ และมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เราเชื่อแน่ว่าผลการรักษาจะดีอย่างแน่นอน และพระองค์ไม่มีพระอาการเจ็บปวด แต่ต้องทรงอดทนพักฟื้นอีกเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ”

ด้วยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ทำให้พระองค์ทรงพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษากิจการงานต่าง ๆ ดังนี้

  • ด้านกิจการสื่อมวลชน วิทยุ และการสื่อสารทางไกล
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานีวิทยุของ อาร์.ซี.เอ ที่นครนิวยอร์ค และนิวเจอร์ซี สำนักงานและโรงพิมพ์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค เฮเริ่ลดิ์ ทริบูน และการทดลองส่งภาพทางไกลและการทดลองผลิตภาพยนตร์ประกอบเสียง ณ บริษัทอเมริกันเทเลโฟน
  • ด้านอุตสาหกรรม
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานของธอมัส เอ เอดิสัน อินดัสตรีย์ ที่เวสต์ ออเรนย์ มลรัฐนิวเจอร์ซี บิดาผู้คิดค้นวิทยาการไฟฟ้า ทอดพระเนตรห้องทดลองไฟฟ้าบริษัทเยเนรัล อีเล็คทริค จำกัด ทอดพระเนตรโรงถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทปาราเมาต์ ที่ลองไอส์แลนด์ และทอดพระเนตรการผลิตภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม
  • ด้านการศึกษา และทหาร
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ และเสด็จฯ ยังโรงอากาศยานกองทัพเรือสหรัฐที่เลคเฮิร์ล มลรัฐนิวยอร์ค ทรงประทับเรือเหาะลอส แอนเจลลิส  ทอดพระเนตรเมืองอากาศ
  • ด้านเศรษฐกิจ
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระราชปฏิสันถารกับบุคคลต่าง ๆ เช่น นางและนายริชาร์ เซาธ์เกท แห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นายเพอร์ซี ไพน์ นักธุรกิจการธนาคารและการลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท แห่งนครนิวยอร์ค และพระยากัลยาณไมตรี อดีตที่ปรึกษาการต่างประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกไปปรึกษาเขาเรื่องการปฏิรูประบอบการปกครอง เป็นที่มาของ “ร่างรัฐธรรมนุญ” ที่เขาร่างเค้าโครงถวายในกาลนั้น

บทความออนไลน์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา

รายงานกิจการ ประจำปี 2561 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ประชาธิปก-รำไพพรรณี. (2561). เมื่อองค์ประชาธิปก เสด็จประพาส “โลกใหม่”. มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
รายงานกิจการ ประจำปี 2563 มูลนิธิ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ประชาธิปก-รำไพพรรณี. (2563). พระราชบันทึกความทรงจำในองค์ประชาธิปกเกี่ยวกับเมื่อเสด็จฯ ยังสหรัฐอเมริกา. มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
รัชกร คงเจริญ. (2565). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา. https://library.stou.ac.th/2022/05/kingprajadhipok-visits-usa/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน