สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชร่วมกับข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและการประชุมสามัญข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) พ.ศ. 2567
การประชุมคณะกรรมการอำนวยการข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) ครั้งที่ 4/2567
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม 5209 อาคารสัมมนา 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยมี ผศ.ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราขเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวต้อนรับคณะกรรมการอำนวยการข่ายงานห้องสมุดฯ
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาการบริหารจัดการข่ายงานและกำหนดทิศทางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์
การประชุมสามัญคณะทำงานข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) พ.ศ. 2567
ต่อเนื่องกันในวันที่ 10 – 11 กันยายน พ.ศ. 2567 ได้มีการจัดการประชุมสามัญข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “การแปลงแผนยุทธศาสตร์ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2567 – 2571 สู่การปฏิบัติ : ทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงาน” ณ ห้องพระปกเกล้า อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในการประชุมนี้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความพร้อมของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษากับการจัดการคลังสารสนเทศดิจิทัลตาม มตช./ข้อกำหนดเผยแพร่ 2001 – 2567” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ให้ความรู้และแนวทางที่สำคัญ
เกี่ยวกับการจัดการและพัฒนาคลังสารสนเทศดิจิทัลของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สมาชิกข่ายงานห้องสมุดฯ ได้รับข้อมูลเชิงลึกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสารสนเทศดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และมีการถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่อง “การขอรับรองตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช./ข้อกำหนดเผยแพร่) 2001 – 2567” โดย นางสาวอรอนงค์ อุดมวงศ์ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธธรรมาธิราช
การประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้คณะทำงานจาก 20 สถาบันสมาชิกข่ายงานห้องสมุดฯ ได้ร่วมกันพิจารณา ทบทวน และวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ข่ายงานห้องสมุดฯ พ.ศ. 2567 – 2571
เพื่อสนับสนุนพันธกิจของข่ายงานฯ ในการเป็นเครือข่ายห้องสมุดที่เข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทันสมัยตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล