เรื่อง (ไม่) ลับ “สกุลไทย”..อดีต ปัจจุบัน และก้าวต่อไป
“สกุลไทย” เป็นชื่อนิตยสารที่ถือกำเนิดขึ้น จากความต้องการของสังคมและวัฒนธรรมการอ่าน สกุลไทยฉบับแรกออกวางตลาดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือเมื่อ ๕๙ ปีที่แล้ว เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายกใหญ่ ราคา ๓ บาท โดยมีนายประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ เป็นเจ้าของและผู้จัดการ นายลมูล อติพยัคฆ์
เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
เมื่อย้อนกลับไปในขณะนั้นในตลาดหนังสือ มีนิตยสารสำหรับผู้หญิงเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้น และเป็นยุคที่กิจการสิ่งพิมพ์ไทยกำลังเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู สกุลไทยจึงได้เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ของผู้อ่าน โดยมุ่งนำเสนอนิตยสารที่มีนวนิยายเป็นเนื้อหาหลัก และมีสารคดีและคอลัมน์ปกิณกะบันเทิงต่างๆ เป็นส่วนประกอบ
“โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า” เป็นคำเชิญชวนผู้อ่านสู่โลกการอ่านและพบกับสกุลไทยทุกสัปดาห์ด้วยถ้อยคำนี้ปรากฏอยู่ในสกุลไทยตั้งแต่ฉบับแรก ยาวนานต่อเนื่องมาถึงฉบับปัจจุบัน และกลายเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของนิตยสารเล่มนี้ที่ไม่ซ้ำแบบใครนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เบื้องหลัง “ปกสกุลไทย” ภาพปกภาพแรกของสกุลไทย มีนางแบบคือ คุณบุญปรง ศิริธร ไม่มีแฟชั่นภาพสีในเล่ม เนื่องจากภาพสีมีเพียงหน้าปกหน้าและปกหลังเท่านั้น นอกจากภาพปกแฟชั่นแล้ว สกุลไทยยังคงยึดมั่นในการยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ด้วยการนำเสนอภาพปกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
ก้าวต่อไปของ “สกุลไทย” ความเป็นไปได้ในการ “ฟื้นคืนชีพ” สกุลไทยในรูปแบบ “สื่อดิจิตอล” น่าจะพอทำได้ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีคนพูดถึงกันเยอะก็คือ แฟนเก่าที่เหนียวแน่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ยังคงติดรูปแบบที่เป็นกระดาษกันอยู่ แม้จะบางส่วนจะไม่มีปัญหาที่จะอ่านในออนไลน์ ซึ่งก็คงต้องดูกันอีกที นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๒๓๗ ได้วางตลาดเป็นฉบับสุดท้ายในวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ได้จัดทำเป็นฉบับพิเศษ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางของนิตยสารสกุลไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน บทความและภาพถ่ายที่หาชมยากและข้อเขียนจากนักเขียนที่เคยฝากผลงานไว้ใน “สกุลไทย”
ผู้จัดการรายวัน (21 กันยายน 2559)
19/03/2017 @ 11:46 AM
น่าเสียดายและใจหาย กับแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ แม้กระทั่งนิตยสารที่จัดพิมพ์มายาวนานยังต้องปิดตัวลง นิตยสารอีกหลายชื่อเรื่องนั้น ก็ทะยอยปิดตัวลงไปตามๆกัน เป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่หลากหลาย ผู้อ่านมีช่องทางในการรับสื่อและการอ่านหนังสือ/นิตยสาร การที่จะทำให้นิตยสารคงอยู่ได้นั้นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้อ่านที่มีหลากหลายมากขึ้นด้วย