พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ ยูทูป และอินสตาแกรม ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนหากต้องการติดตามข่าวสารต่างๆ ก็ต้องอ่านจากหนังสือพิมพ์ หรือฟังข่าวจากวิทยุ ทำให้รู้สึกเสียดายที่ปัจจุบันมีหนังสือพิมพ์ปิดตัวยกเลิกการผลิตไปหลายสำนักพิมพ์ พอดีได้อ่านพบข่าวเกี่ยวกับ “พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย” เห็นว่าน่าสนใจจึงรีบนำเรื่องราวประวัติการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย มาบอกกล่าวเล่าสู่ท่านที่สนใจ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกมาจนถึงปัจจุบันและจัดแสดงเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ โดยจัดแยกเป็นโซนต่างๆ
ส่วนจัดแสดงแรก จำลองสำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต นำเสนอให้เห็นถึงหน้าที่สำคัญต่างๆ ในสำนักงาน เช่น เจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือ บรรณาธิการ ทำหน้าที่ลงทุนเขียนบทความกำหนดทิศทางและความถูกต้องของหนังสือพิมพ์ในภาพรวม ถัดไปคือหน้าที่นักข่าว ที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และนำเสนอประเด็นต่างๆ ให้สาธารณะชนได้รับทราบ ควบคู่ไปกับการเป็นช่างภาพด้วย และหน้าที่ช่างเรียงพิมพ์ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนเพราะกว่าจะนำเอาแม่พิมพ์ตัวสระ หรืออักษรที่เป็นแท่งตะกั่วเล็กๆ มาเรียงกันจนได้ข้อความที่ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยป้อนกระดาษพิมพ์ลงไปทีละแผ่น อีกทั้งช่างเรียงพิมพ์ยังต้องมีความสามารถในการออกแบบจัดหน้าสิ่งพิมพ์และแกะบล็อกไม้เพื่อทำภาพลายเส้นประกอบได้ด้วย
ส่วนจัดแสดงที่ 2 คือประวัติบุคคลที่มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ไทย มีพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวง ขึ้นในพระราชวังชั้นกลาง และโปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือพิมพ์เป็นระยะๆ ชื่อว่าราชกิจจานุเบกษา แจกจ่ายในส่วนราชการและทั่วไป ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงวางรากฐานสถาบันสื่อสารมวลชนให้เป็นฐานันดรที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี รวมถึงทรงให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และตรากฎหมาย ที่ให้เจ้าของหรือบรรณาธิการต้องมีความรับผิดชอบในหนังสือพิมพ์นั้นๆ นับว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรกหรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า “ตราพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2465” ซึ่งถือว่า ทั้งสองพระองค์ ทรงพระอัจฉริยะภาพในการเล็งเห็นความสำคัญของการพิมพ์ ยังมีข้อมูลเกียรติประวัติบุคคลสำคัญของวงการหนังสือพิมพ์อีก เป็นต้นว่า มิชชันนารีกลุ่มแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาอย่างหมอบลัดเลย์ ซึ่งได้ทำการออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทยแบบรายปักษ์ ในสมัยของรัชกาลที่ 3 มีชื่อว่าบางกอกรีคอเดอ (Bangkok Recorder) ทั้งบุคคลในยุคถัดมา เช่น กุหลาบสายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), โชติแพร่พันธุ์ (ยาขอบ), อิสราอมันตกุล, มาลัยชูพินิจ ซึ่งล้วนแต่ยืดมั่นในอาชีพและยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด ซึ่งทุกท่านถือว่ามีคุณูปการต่อวงการหนังสือพิมพ์ไทยเป็นอย่างมาก
ส่วนจัดแสดงที่ 3 เป็นห้องนิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย บอกเล่าถึงความเป็นมาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับที่วางแผงมาจนได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วบ้านทั่วเมือง รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยตั้งอยู่บนชั้น 2 ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ถนนราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่ได้เปิดให้เข้าชมตลอดเวลา การจะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต้องติดต่อล่วงหน้าเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เปิดพิพิธภัณฑ์ไว้รับรอง
ผู้ที่สนใจจะเข้าชมสามารถติดต่อล่วงหน้า ได้ที่ โทร. 02 669 7124-6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
17/08/2017 @ 2:05 PM
น่าสนใจมาก เท่าที่ทราบ พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้เปิดให้บริการตลอดเวล
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์.ต้องโทรนัดหมายล่วงหน้า ที่เบอร์ 0-2243-5876
หรือส่งข้อความในเพจ @thaipressmuseam
และในกรณีที่ต้องการขอถ่ายทำรายการในพิพิธภัณฑ์ ต้องทำจดหมายส่งเรื่อง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย โดยแจ้งวันที่-เวลา และรายละเอียด พร้อมหมายเลขติดต่อกลับ และส่งแฟกซ์ที่เบอร์ 0-2243-5876 รอการตอบรับหรือโทรสอบถามที่เบอร์เดียวกัน ก่อนการเข้าชม
21/09/2017 @ 11:11 AM
อนาคตของหนังสือพิมพ์” ที่ผ่านระยะการเติบโต ลงทุน การขยายตัวเข้าถึงผู้อ่าน กระทั่งยุคอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง เมื่อทุกคนสามารถป้อนเนื้อหาเชิงข่าวได้ และสำหรับบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาในสื่อดั้งเดิม มองว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะกลายเป็น “ตำนาน” แบบมีคุณค่า (อ้างอิง https://www.prachachat.net/spinoff/news-9523)
ถ้ามีโอกาสอยากไปเยี่ยมชมสักครั้ง ก่อนที่สื่อสิ่งพิมพ์จะเป็น “ตำนาน” เช่น สำนักพิมพ์บ้านเมือง และนิตยสารต่างๆ เช่น สกุลไทย พลอยแกมเพชร เป็นต้น ต่างก็ทยอยปิดตัว
30/09/2017 @ 12:21 PM
ถ้ามีโอกาสก็อยากไปชมค่ะ และคิดว่าคงจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมของเก่า และแสดงวิวัฒนาการแต่ละยุคสมัยอย่างนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะแม้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเพียงใด มีสิ่งใหม่มาทดแทนของเก่าแล้วก็ตาม แต่ของเก่าก็ยังคงมีคุณค่าในตัวมันเอง ในแง่คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในศึกษาเรื่องราว ส่วนคนรุ่นเก่าใช้เตือนความทรงจำ