นิตยสารไทยทยอยปิดตัว ส่งผลยังไง ?
ในยุคดิจิตอลที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการแข่งขันในแวดวงสื่อสารมวลชนที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เนื่องจากเข้าถึงข่าวสารได้เร็วและราคาถูกกว่า จนทำให้สื่อดั้งเดิมที่มีอยู่คือสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ได้รับผลกระทบ สื่อสิ่งพิมพ์บางแห่งต้องลดต้นทุนการผลิต สุดท้ายทนพิษเศรษฐกิจและการแข่งขันอย่างดุเดือดไม่ไหว ต้องโบกมืออำลาวงการสื่อไปอย่างน่าใจหาย
ในช่วงปีที่ผ่านมา นิตยสารที่วางขายในประเทศไทยได้ทยอยปิดตัวลงไปกันเยอะ ได้แก่ พลอยแกมเพชร อิมเมจ เปรียว คอสโม (Cosmopolitan Thailand) เซเวนทีน (Seventeen Thailand) นิตยสารระดับตำนาน “สกุลไทย” ที่มีอายุยาวนานกว่า 60 ปี ก็ไม่รอดปิดตัวลงไปเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมี ”พลอยแกมเพชร” “Health & Cuisine” นิตยสารการ์ตูน พวก C–Kids และ Boom ก็ปิดไป
สาเหตุที่ทำให้นิตยสารเหล่านี้ ต้องปิดตัวลงนั้น เพราะขาดทุน รายได้ของนิตยสารส่วนใหญ่มาจากโฆษณา ปัญหาตอนนี้คือ คนอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม ๆ น้อยลง เมื่อคนอ่านน้อยลง โฆษณา ก็ไม่อยากจะลง เพราะลงไปคนก็ไม่เห็น ไม่อ่าน ไม่มีรายได้จากการโฆษณา ก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องปิด ผู้คนแห่ไปอ่านบนมือถือ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ กันหมด นิตยสารที่ได้ทยอยปิดตัวไปนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นนิตยสารประเภทบันเทิง แต่มีหลายคอลัมน์ ที่มีเนื้อหาที่ให้ความรู้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสุขภาพ วิทยาศาสตร์ การศึกษา การจัดการ เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการเมือง เป็นต้น หากนิตยสารที่เป็นเล่มนั้น มีการปิดตัวลงไป และสามารถเข้าถึงได้ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น คำถามคือ ชาวบ้าน เด็กนักเรียน ที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ต่างตำบล นั้น เค้าจะสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ ลองคิดดูง่าย ๆ ตอนที่เป็นนักเรียนเข้าห้องสมุดโรงเรียน ก็มีนิตยสารวางอยู่ แต่ตอนนี้นิตยสารปิดตัวไป ห้องสมุดก็คงไม่มีนิตยสารแล้ว ร้านเสริมสวย เดินเข้าไป คงนึกภาพออก ระหว่างนั่งรอ ก็มีหนังสือ นิตยสารวางเป็นกอง ให้ลูกค้าได้นั่งอ่านไปตอนนี้ก็คงไม่มีแล้ว
คนไทย ขึ้นชื่อว่าอ่านหนังสือกันน้อยอยู่แล้ว นิตยสารทยอยปิดกันไปแบบนี้ การเข้าถึงตัวหนังสือ ความรู้ ก็คงไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา … คนไทย จะอ่านกันน้อยลงอีกรึเปล่าเนี่ยะ ?!?!?
นิตยสารและวารสารที่สำนักบรรณสารสนเทศ ให้บริการก็มีปิดตัวไปหลายชื่อเรื่องเหมือนกัน ได้แก่ สกุลไทย, พลอยแกมเพชร, เนชั่นสุดสัปดาห์, WHO,ไมโครคอมพิวเตอร์, จีนไทย, เซียนพระ, e–commerce,รักลูก, แม่และเด็ก, ส่วน“ขวัญเรือน” ก็มีข่าวว่าจะงดผลิต แต่แล้วข่าวก็ออกมาว่าจะปรับปรุงจากรายปักษ์เป็นรายเดือน ประเภทหนังสือพิมพ์ ได้แก่ “หนังสือพิมพ์บ้านเมือง” ก็ปิดตัวลงไปแล้ว และ “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก” ก็กำลังมีแนวโน้มว่าจะปิดตัวเช่นกัน โดยตอนนี้ออกเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์ และฉบับวันเสาร์ออกรวมกับวันอาทิตย์ เป็นต้น
ตัดตอนจาก https://www.thairath.co.th/content/820113
08/09/2017 @ 1:18 PM
น่าเสียดายมากค่ะ นิตยสารบางเล่ม มีรูปเล่ม เนื้อหาน่าสนใจมากเช่น สกุลไทย พลอยแกมเพชร แต่ต้องปิดตัวลง
ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีนิตยสารชื่อใหม่ ที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าเช่นนี้
08/09/2017 @ 1:42 PM
ถ้ามองการตลาดต้นทุนกำไร องค์ประกอบหลักที่ต้องการความอยู่รอดคือแหล่งสนับสนุน การหาผู้สนับสนุน หรืออุปถัมภ์เงินทุนจากที่ต่าง ๆ เป็นหลัก บางเล่มมีเนื้อหาที่น่าสนใจแต่หาผู้สนับสนุนไม่ได้ย่อมขาดทุน ถึงแม้ว่าคนที่ทำจะรักในสิ่งที่ทำและมีความสุขกับสิ่งนั้น แต่ขาดเงินทุนมาสนับสนุนวันที่ปิดตัวของธุรกิจย่อมเกิดขึ้น ชื่อนิตยสารคงแค่เป็นชื่อประวัติศาสตร์และตำนานที่จะกล่าวถึงเท่านั้นเอง
21/09/2017 @ 11:05 AM
วารสารบางชื่อเรื่องมีรูปเล่มสวยงาม น่าอ่านและมีประโยชน์ เป็นการสัมผัสความสุขในรูปลักษณ์ที่จับต้องได้ สำหรับผู้ที่หลงใหลหนังสือแบบเป็นรูปเล่ม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เป็นไปในแนวทางอิเล็กทรอนิกส์และสังคมออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถสู้ต้นทุนได้ไหว ทำให้วารสารที่มีคุณค่าต่างๆเหล่านี้ ที่บางรายชื่อมีประวัติมายาวนานต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย