เป็นการรวบรวมนิทรรศการออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำขึ้น
ในส่วนนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
จะเป็นการเข้าใช้งานในส่วนของการ สืบค้นทรัพยากรสารสนทศที่มีอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การแสดงเบิกโรงโขนและหนังใหญ่ที่นิยมแสดงกันจนเป็นประเพณีในสมัยโบราณคือชุดลิงขาวลิงดำ ถ้าแสดงตอนหัวค่ำเรียกว่า ชุดจับลิงหัวค่ำ การแสดงเบิกโรงชุดลิงขาวลิงดำนี้ ในสมัยอยธุยาใช้แสดงเบิกโรงโขนทั้งกลางวันและกลางคืน จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในราว พ.ศ. 2294-2301 ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้กล่าวถึงมหรสพที่แสดงสมโภชพระพุทธบาทในตอนกลางวันว่ามีการแสดงโขน และแสดงเบิกโรงชุดลิงขาวลิงดำ ว่า “บัดการโหรสพ พก็โห่ขึ้นประนัง กลองโขนตระโพนดัง ก็ตั้งตระดำเนิรครู ฤๅษีเสมอลา กรบิลพาลสองสู เสวตรานิลาดู สัประยุทธภัณฑนา” การแสดงเบิกโรงชุดลิงขาวลิงดำ หรือจับลิงหัวค่ำ เป็นการแสดงสั้นๆ มีเนื้อเรื่องเฉพาะตอนไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะแสดงต่อไป เนื้อเรื่องเป็นคติสอนใจให้ทำดีละเว้น เรื่องราวเป็นการรบกันของลิงขาวกับลิงดำ ความชั่ว มักแสดงตอนเริ่มการแสดง ถ้าเป็นการแสดงในเวลากลางคืนก็เป็นตอนหัวค่ำ เพราะเด็กๆ จะได้ดูกันอย่างเต็มที่ ถ้าดึกเด็กจะง่วงนอน ไม่ได้ดูการแสดงที่เป็นคติสอนใจ อีกประการคือตอนหัวค่ำคนดูจะยังมีไม่มาก เนื่องจากผู้ใหญ่พึ่งจะเสร็จจากการทำงานในตอนเย็นต้องกลับบ้านอาบน้ำรับประทานอาหาร เพื่อเตรียมตัวไปดูโขนดูหนังใหญ่ ปัจจุบันการแสดงเบิกโรงชุดจับลิงหัวค่ำก่อนการแสดงโขนและหนังใหญ่ไม่มีแล้ว
ประเลงเป็นการแสดงเบิกโรงละครใน ผู้แสดงละครแต่งกายยืนเครื่องพระ 2 คนสวมหัวเทวดาโล้น (เทวดาที่ไม่มีมงกุฎ) ถือหางนกยูงทั้งสองมือออกมารำประเลง เป็นการสมมติว่าเทวดาออกมาร่ายรำเบิกโรงละครก่อนที่จะแสดงละคร มีความหมายในทางที่เป็นมงคล เพลงที่ใช้ประกอบการร่ายรำใช้ทำนองเพลงหน้าพาทย์เริ่มด้วยเพลงกลม ซึ่งเป็นเพลงสำหรับเทพเจ้าชั้นสูงรำในการเดินทางไปมาในอากาศ หรือบางครั้งใช้เพลงโคมเวียน เป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับเทวดานางฟ้าทั้วไปใช้ร่ายรำ เมื่อบรรเลงเพลงกรมหรือเพลงโคมเวียนแล้ว ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงชำนาญ เป็นการประสิทธิ์ประสาทความเป็นสวัสดิมงคลให้เกิดขึ้นแก่โรงละครและการแสดงละคร ต่อจากนั้นปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด ผู้แสดงชุดประเลงจึงรำเข้าโรง เป็นอันจบการรำประเลงเบิกโรงละครในสมัยโบราณ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการแสดงรำเบิกโรงละครชุดรำประเลงเป็นรำดอกไม้เงินทอง เพื่อแสดงถึงพระเกียรติยศที่ทรงได้รับดอกไม้เงินทองจากเจ้าประเทศราชต่างๆ ให้ปรากฏสืบไป ทรงคิดประดิษฐ์ดอกไม้เงินทองเป็นอุปกรณ์สำหรับการรำ ใช้ตัวละครที่แต่งกายยืนเครื่องพระ 2 คนตามแบบรำประเลง แต่เปลี่ยนมาสวมชฎาแทนการสวมหัวเทวดา สองมือถือดอกไม้เงินทองแทนหางนกยูง และทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องประกอบการรำขึ้นใหม่ด้วย รำฉุยฉายดอกไม้เงินทอง เป็นการแสดงรำเบิกโรงของฝ่ายนาง ที่จะแสดงต่อจากการแสดงรำเบิกโรงชุดดอกไม้เงินทองของฝ่ายพระ ผู้แสดงหญิงแต่งกายยืนเครื่องนาง 2 คน ถือดอกไม้เงินทองทั้งสองมือออกมารำตามทำนองเพลง โดยปี่พาทย์บรรเลงและใช้บทร้องเพลงฉุยฉาย ต่อด้วยเพลงแม่ศรี การรำฉุยฉายดอกไม้เงินทองเป็นการรำต่อจากการรำเบิกโรงของฝ่ายพระในตอนเริ่มต้น เป็นการแสดงให้เห็นลีลาการรำของตัวนางเปรียบเทียบกับตัวพระ
ละครเบิกโรงเป็นการจัดตัวละครมาแสดงประกอบการร่ายรำ เช่น ละครเบิกโรงชุดนารายณ์ปราบนนทุก เมขลารามสูร จากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในบทเบิกโรงละครหลวง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมดํจพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเบิกโรง 4 เรื่อง ตามหนังสือวรรณคดีอินเดียโบราณและดัดแปลงให้เหมาะสมแก่การเล่นละครไทย เรียกว่า บทละครเบิกโรงเรื่องดึกดำบรรพ์ ได้แก่ มหาพลี ฤษีเสี่ยงลูก นรสิงหาวตาร และพระคเณศเสียงา .
นรีรัตน์ พินิจธนสาร (2556) เบิกโรงมหรสพ : การแสดงเพื่อการเริ่มต้น. ศิลปกรรมสาร, 8(2), 1-16. ปัญญา นิตยสุวรรณ (2537) การแสดงเบิกโรง. วารสารวัฒนธรรมไทย, 31(5),31-34.