พระปฐมบรมกษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พุทธศักราช 2475 ในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้จัดตั้งครบรอบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระบรมราชนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และให้ประชาชนได้รำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของสยามประเทศ
สะพานพระพุทธยอดฟ้า
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสาธารณประโยชน์แก่ ประชาชนเพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งพระราชทานนามสะพานนี้ว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” งบดำเนินการที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ประมาณ 4 ล้านบาท ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยกำลังประสบ ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จำนวนหนึ่ง กับรัฐบาลจัดสรรเงินแผ่นดินจำนวนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่มาจากประชาชนร่วมกันบริจาคทรัพย์
สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานเหล็กยกเปิดปิดตรงกลางโดยใช้ระบบแรงไฟฟ้าเพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านไปได้ ออกแบบ โดย บริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 เวลา 17.30 นาฬิกา และมีพระราช พิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
บูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามหลวง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอาราม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทุกรัชกาล เงินที่ใช้ในการปฏิสังขรณ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 600,000 บาท จึงใช้วิธีการหาทุนดำเนินการเช่นเดียวกับการสร้างปฐมบรม ราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท รัฐบาลออกให้ ส่วนหนึ่งจำนวน 200,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้จาก ประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญตามแต่ศรัทธา
งานฉลองพระนคร 150 ปี
งานฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ตามหมายกำหนดการ แบ่งเป็น 3 ภาค รวม 7 วัน ประกอบด้วย ภาค 1 งานฉลองพระนคร เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 – 8 เมษายน โดยถือ เอาวันมหาจักรี วันที่ 6 เมษายนเป็นวันสำคัญของงาน ภาค 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ วันที่ 8 – 9 เมษายน โดยถือเอา วันที่ 9 เมษายนเป็นหลักสำคัญจากการคำนวณของโหรซึ่งใช้วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกครบ 150 ปี ภาค 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน วันที่ 23 เมษายน โดยถือเอาวันฝังหลักพระนครเป็นสำคัญ