น้ำอบ น้ำปรุง จรุงกลิ่นดอกไม้ไทย  

เครื่องไทยหอม

เครื่องหอมไทยในสมัยก่อนนิยมทำใช้กันในวัง ต่อมาความนิยมได้แพร่หลายมาสู่คนทั่วไป คนสมัยก่อนนิยมนำมาประพรมตัวมีทั้งน้ำอบไทย แป้งร่ำ แป้งพวง น้ำดอกไม้สด กระแจะจันทร์ บุหงารำไป น้ำปรุงหรือน้ำหอมไทย  

น้ำอบ มีมาก่อนน้ำปรุง มีกลิ่นหอมเบาบาง มีส่วนผสมของแป้ง กลิ่นไม่ติดทนมากนัก บูดเสียง่าย ส่วน น้ำปรุง คือน้ำหอมไทยสไตล์น้ำหอมของฝรั่ง มีกลิ่นติดทนนานกว่าน้ำอบ

น้ำอบไทย

น้ำอบไทย เป็นเครื่องหอมที่คนไทยใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยมาอย่างยาวนาน ใช้ประพรมร่างกายเพื่อเพิ่มความเย็น สดชื่น ช่วยให้เกิดความกระปรี้กระเปร่าและคลายร้อน มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณดับพิษร้อน และยังมีแป้งหินและพิมเสนเป็นตัวช่วยให้เกิดความเย็นสบาย น้ำอบนำมาใช้ได้หลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล พิธีโกนผมไฟ พิธีแต่งงาน รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ช่วงวันสงกรานต์ สรงน้ำพระ กระทั่งถึงงานอวมงคล

น้ำอบนางลอย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นางเฮียง ธ. เชียงทอง ผู้มีเชื้อสายจีนที่เกิดในกรุงเทพมหานคร ได้รับความรู้และวิธีปรุงน้ำอบจากเพื่อที่เคยทำงานในวังแล้วนำมาประยุกต์ดัดแปลงโดยนำกลิ่นหอมของดอกไม้ไทยหลายชนิด ได้แก่ ดอกกุหลาบ มะลิ จำเจียก และดอกกระดังงา มาปรุงกับน้ำหอมฝรั่งที่นิยมในสมัยนั้น ทำให้ได้น้ำอบไทยที่มีกลิ่นหอมสดชื่นและมีสีเหลืองอำพันอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำอบแม่เฮียง

แม่เฮียงนำน้ำอบออกขายครั้งแรกที่ตลาดนางลอยข้างวัดบพิตรภิมุขวรวิหาร ด้วยวิธีการตวงใส่ภาชนะที่ลูกค้าเตรียมมา  น้ำอบไทยแม่เฮียง เป็นที่นิยมและแพร่หลายจนคนเรียกขานกันว่า น้ำอบไทยนางลอยของแม่เฮียง และเรียกสั้นๆ ว่า น้ำอบนางลอย มีตราสินค้าเป็นรูปนางฟ้าลอยอยู่บนลวดลายไทย สีแดง ขาว น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของธงชาติไทย บ่งบอกถึงความเป็นไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้

น้ำปรุง.. เครื่องหอมไทยชั้นสูง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่น้ำปรุงได้รับความนิยมสูงสุด  จัดเป็นเครื่องหอมไทยชั้นสูง ที่เจ้านายในวังนิยมใช้เป็นน้ำหอมประจําพระองค์ แต่ละพระตำหนักจะมีสูตรน้ำปรุงและเครื่องหอมเฉพาะตำหนัก 

พระตำหนักในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อย
สอางค์ พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในพระตำหนักที่ขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องหอมไทย เนื่องด้วยเป็นพระตำหนักที่มีหน้าที่ในการทำเครื่องหอมโดยตรง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์ และทรงมีหน้าที่ปรุงพระสุคนธ์ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง

น้ำปรุงโบราณ..หอมติดกระดาน

สมัยก่อนสาวชาววังจะใช้น้ำปรุงแต้มที่ผิว ใส่ผม และ นำไปอบร่ำเสื้อผ้าที่สวมใส่ ... .เวลาไปนั่งคุยที่เรือนไหน พอลากลับไปแล้ว กลิ่นยังติดกระดานอยู่เลย...จึงมักจะพูดเสมอว่า "หอมแบบชาววัง หอมติดกระดาน"

น้ำปรุง เป็นเครื่องหอมไทยแท้ เป็นเครื่องหอมชั้นสูงของไทยที่ใช้ในงานมงคล สามารถใช้ถวายพระ สรงน้ำพระ ไหว้เทพ ใช้ในพิธีกรรม ผสมน้ำพระพุทธมนต์ หรือใช้ผสมน้ำรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เป็นภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณที่มีเฉพาะแต่ละคน นอกจากการใช้ประพรมร่างกายให้หอมแล้ว  ในวังยังนำไปใช้อบพระภูษา ผสมในน้ำสำหรับสรง ทำน้ำพระพุทธมนต์ อบเครื่องนอนพระบรรทม นอกจากนี้กลิ่นของน้ำปรุงยังช่วยป้องกันแมลงกัดกินเนื้อผ้าได้ด้วย      น้ำปรุง เป็นน้ำสีเขียวๆ ซึ่งสกัดจากใบไม้ ปรุงด้วยกลิ่นดอกไม้หลากหลายชนิดให้มีความหอมอย่าลงตัว ส่วนผสมหลักมาจากดอกไม้ไทยนานาชนิด เช่น ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกปีบ ดอกชมนาด ดอกสายหยุด นำมาผสมกับสมุนไพรไทย เช่น ผิวมะกรูด ใบเตย มีกลิ่นเดียวคือกลิ่นดอกไม้รวม ตามแต่สูตรของผู้คิดค้น ปรุงจนได้กลิ่นที่ลงตัวให้หอมตามจริตความชอบ กลิ่น สี ลักษณะ จึงเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตำรับนั้นๆ

บรรณานุกรม

น้ำอบคืออะไร? ประวัติน้ำอบไทย พร้อมวิธีใช้ในวันสงกรานต์.
     (
10 เม.ย. 2566)  สืบค้นจาก : https://www.thairath.co.th/
    lifestyle/culture/2676726 ตำรับ "น้ำปรุง" น้ำหอมโบราณจากดอกไม้ เสน่ห์ตรึงใจของสตรีชาววัง. 
    
(20 ก.ย. 2565). สืบค้นจาก : https://www.thairath.co.th/      news/local/2502282 สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์  และคณะ. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
     ย่านเก่าในกรุงเทพมหานคร.
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.