เหนียน..กำเนิดตรุษจีน

ตรุษจีน หรือ ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นจากความเชื่อของคนจีนที่สำคัญที่สุด สืบทอดกันมาอย่างช้านาน และปัจจุบันชาวจีนทั่วทุกมุมโลกยังคงยึดถือกันอย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

เหนียน.. กำเนิดตรุษจีน

เมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีมาแล้ว มีสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” ร่างเป็นเสือแต่มีปีกบินได้ เที่ยวกินคนตามหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้กับนักปราชญ์คนหนึ่ง ซึ่งเฝ้าสังเกตช่วงเวลาที่สัตว์ประหลาดนี้ปรากฏตัว และได้ข้อสังเกตว่า สัตว์ประหลาดตัวนี้จะออกมากินคนตามหมู่บ้านในวันก่อนปีใหม่ และแนะนำให้ชาวบ้านรวมตัวกันขับไล่ ครั้นถึงวันดังกล่าว สัตว์ร้ายโผล่ออกมาใกล้หมู่บ้าน แต่มันต้องเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว เพราะได้ยินเสียงคนโห่ร้อง เสียงกลอง เสียงประทัด ทำให้นับแต่นั้นมาสัตว์ประหลาดนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย ชาวบ้านจึงถือว่าวันหลังจากวันที่เกิดเหตุการณ์เป็นวันดี เป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ ถือว่าเป็นวันแรกของปี ต่อมาเรียกว่า “วันปีใหม่” ตามชื่อของสัตว์ประหลาดว่า “เหนียน” ที่แปลว่า “ปี”

15 วัน ฉลองตรุษจีน

วันตรุษจีน ในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน โดยจะใช้วันทางจันทรคติเป็นหลัก ซึ่งจะอยู่ระหว่างวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุดของฤดูหนาว ดังนั้นวันตรุษจีนจะตกอยู่ในช่วงระหว่างกลางเดือนมกราคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ การเรียกชื่อปีใหม่ของจีน จะเรียกตามชื่อสัตว์ในระบบโหราศาสตร์ของวัน ประกอบด้วย 12 ราศี ตามลำดับ คือ หนู วัว เสือ กระต่าย มังกร งู ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา และหนู และการเรียกชื่อในแต่ละปียังมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก เช่น ปีมังกร บางปีจะเรียกว่า เป็นปีมังกรทอง มังกรไม้ เป็นต้น และระยะเวบา 60 ปี จึงจะกลับมาบรรจบครบรอบหนึ่งตามที่เล่าสืบต่อกันมา ที่มีการเรียกชื่อปีเช่นนี้ เพราะในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าเรียกให้สัตว์ต่างๆ มาเฝ้า พระองค์มีสัตว์เพียง 12 ชนิดนี้เท่านั้นที่ปรากฏตัว จึงมีการเรียกชื่อปีตามชื่อของสัตว์ดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแก่สัตว์ทั้งสิบสองชนิดนี้

แต๊ะเอีย

พิธีดั้งเดิม ตรุษจีนจะฉลองกัน 15 วัน วันแรก เรียกว่า “เจีย เทียนตี้” เป็นการต้อนรับเทพเจ้าแห่งสวรรค์และโลก จะจัดเครื่องเซ่น พร้อมทั้งภาชนะเครื่องครัวสำคัญ เช่น ตะเกียบ 5 คู่ จาน 5 ใบ ถ้วย 5 ใบ กิ่งสน 1 กิ่ง หัวหมู 1 หัว ขาหมูย่าง 4 ขา และ ปลาลี้ฮื้อ 1 ตัว วันที่ 2 จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ คล้ายการเซ่นไหว้เทพเจ้าทุกพระองค์ เรียกว่า “ใดเหนียน” หมายถึง การเปิดศักราชใหม่ เครื่องเซ่น มีผลไม้ทุกชนิด และอาหารพวก ไก่ ปลาลี้ฮื้อ เป็ด หมูย่าง วันที่ 3 และ 4 เป็นวันที่บุตรชายแสดงความเคารพต่อพ่อตาแม่ยาย วันที่ 5 เรียกว่า “วัน บอ อู่” จะไม่มีการเดินทางไปเยี่ยมญาติมิตร เพราะเกรงว่าจะนำโชคร้ายมาสู่ทั้งสองฝ่าย และต้องอยู่บ้านเพื่อร่วมกันทำพิธีต้อนรับเทพเจ้าแห่งความมั่นคง และทำพิธีถวายเครื่องเซ่นแก่วิญญาณต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง วันที่ 6 ชาวจีนในภาคกลางจะนำโคมไปร่วมเฉลิมฉลองกัน และระหว่างเฉลิมฉลอง ถ้าใครไม่มีบุตรจะทำการแลกเปลี่ยนโคมกัน เพื่อว่าปีใหม่นี้จะได้โชคดีมีบุตร วันที่ 7 เป็นวันที่ชาวไร่ ชาวนา มาร่วมแสดงพิธีกรรม โดยนำเอาพืชผลมาประกวดประขันกัน และจะร่วมกันดื่มน้ำผสมจากผัก 7 ชนิด วันที่ 7 ถื่อเป็นวันกำเนิดมนุษย์ ผู้ที่มาร่วมชุมนุมจะรับประทานก๋วยเตี๋ยว ที่ถือว่าเป็นเคล็ดทำให้อายุยืน และรับประทานปลาดิบ ที่ถือว่าเป็นเคล็ดเพื่อความสำเร็จ วันที่ 8 ชาวจีนตอนใต้จะรวมญาติ รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ตอนกลางคืนสวดมนต์ถึงเทพเทียนกิง คือเทพแห่งสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ชาวจีนจะพากันออกไปเยี่ยมญาติ การของไปอวยพรปีใหม่กัน และพากันไปวัดเพื่อสวดมนต์ขอพรให้ประสบโชคดี มีสุขภาพดี จนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 15 ของการเฉลิมฉลองตรุษจีน จะจบลงด้วยการเชิดสิงโตและมังกร การฉลองตรุษจีน 15 วัน ไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป จึงได้มีการย่นระยะเวลาของเทศกาลตรุษจีนเหลือเพียง 2 – 3 วัน แต่ยังคงมีเนื้อหาสำคัญๆ ของเทศกาลไว้อย่างครบถ้วน คือ การเตรียมก่อนถึงวันปีใหม่ หรือ ที่เรียกว่า วันจ่าย วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด หรือเรียกว่า วันไหว้ และ วันที่ 3 ที่เรียกว่า วันเที่ยว ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนอยากออกไปข้างนอก เพื่อพบปะญาติพี่น้อง และทักทายกันด้วยคำว่า “ซินเจีย หยูอี้ ซินหนี่ ฮวดใช้” หมายถึง ขอให้ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ตลอดปีใหม่

แหล่งอ้างอิง

เทอด เกียรติภูมิ (ธันวาคม 2537). ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อในสังคมจีนเทศกาลตรุษจีน. วัฒนธรรมไทย, 3(3), 33-36.