"จุดประกาย ขายความคิด พิชิตการเปลี่ยนแปลง
แสดงสัมฤทธิผล...4 ขั้นตอนที่ร้อยกรองขึ้น...เป็นพื้นฐาน
อักษรศาสตร์...หาจากตำราไหนไม่ได้..เป็นกระบวนการสร้างนวัตกรรมวิจิตร”
นวัตกรรมค่ายอาสาสมัคร เป็นแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ในการนำกิจกรรมค่าย มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ร่วมกับพัฒนาสังคม และเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้รู้จักตน รู้จักสังคมและประเทศชาติ ได้รับแนวคิดมาจากการเป็นตัวแทนผู้นำนิสิตนักศึกษาจากประเทศไทย ณ หมู่บ้านชนบทในรัฐบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ในการเข้าค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติ ในขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเข้าร่วมงานค่ายอาสาสมัครต่างๆ มากมาย ค่ายอาสาสมัครของนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยค่ายแรกในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงงานสำคัญของค่ายคือ การตัดถนนเชื่อมหมู่บ้านชื่อ จุฬาราษฎร์สามัคคี และการทำไร่สับปะรดตัวอย่างชื่อ จุฬาราษฎร์พัฒนา ความสำเร็จของค่ายแรกทำให้เกิดการขยายผลกิจกรรมค่ายอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
นวัตกรรมการวิจัยสถาบัน เป็นการวิเคราะห์วิจัยศึกษาสถาบันของตนเอง เพื่อให้เข้าใจตนเองมากที่สุดและให้ได้มาซึ่งสารสนเทศสำหรับการกำหนดนโยบาย การวางแผนและการตัดสินใจในการบริหาร ทำให้การดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การวิจัยสถาบันมีบทบาทในการประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท เป็นรากฐานของการพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้บุกเบิกระบบและวางแผนพัฒนาการอุดมศึกษาและระบบงานวิจัยสถาบันและสารสนเทศการอุดมศึกษา เป็นผู้สร้างมิติใหม่ของการวิจัยสถาบันในประเทศไทย จนได้รับการยกย่องเป็น บิดาของ การวิจัยสถาบันในประเทศไทย
นวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นนวัตกรรมการศึกษาทางไกลในระบบเปิดที่เกิดจากความเชื่อและแรงบันดาลใจของ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ก่อกำเนิดตั้งแต่ความคิดมาเป็น มหาวิทยาลัยในการะดาษ สู่ มหาวิทยาลัยในการกระทำ แนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ทางด้านการศึกษาเกิดขึ้นและเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาทางไกล ถือเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ทางการศึกษาของประเทศไทย ที่เป็นทางออกและทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความเสมอภาค การกระจายโอกาสและการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วประเทศไทยและในต่างประเทศได้มีโอกาสศึกษาจนจบปริญญาตรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นวัตกรรมสาธิตเสริมสมอง เป็นการจัดตั้งกองทุนการศึกษาเสริมสมองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ในการให้ทุนแบบเต็มรูปกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกกาสได้ศึกษาจนจบปริญญาตรี ภายใต้โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีคณะกรรมการบริหารกองทุนทำหน้าที่บริหารกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กองทุนประกอบด้วย เงินที่มหาวิทยาลัยจัดสรรจากเงินคงคลังของมหาวิทยาลัย เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและเงินผลประโยชน์จากการบริหารกองทุน โดยนักเรียนที่อยู่ในโครงการจะศึกษาเล่าเรียนตามปกติควบคู่กับการได้รับสื่อทางไกลที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเก่ง
นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในเรือนจำ เป็นนวัตกรรมคืนคนดีสู่สังคม ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดและการดำเนินการของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ยึดหลักการให้การศึกษาตลอดชีวิตและการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ทุกคน เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ต้องขังที่ขาดโอกาสในการเรียนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป อาศัยศักยภาพของการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในการทำความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์จัดการเรียนการสอนในเรือนจำ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการอุดมศึกษาไทยในเรือนจำ ที่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มีการนำแนวคิดและการดำเนินการจัดการอุดมศึกษาให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศอื่นๆ
นวัตกรรมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นนวัตกรรมล้ำสมัย ที่เกิดขึ้นจากแนวคิด การผลักดันและสนับสนุน ของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพในเชิงบริหารจัดการ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งที่ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยสุรนารี เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นแห่งที่สอง สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ถือเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐในระบบราชการสู่การมีอิสระและคล่องตัวในการดำเนินงาน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาและสร้างปัจจัยคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถครองคนดี คนเก่งให้อยู่กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดพิมพ์หนังสือ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในทัศนะ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน” ขึ้น เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 75 ปี เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552
นวัตกรรมสหกิจศึกษา เป็นกระบวนการของการพัฒนานักศึกษาควบคู่กับการเรียนการสอนปกติในมหาวิทยาลัย หลักการและนโยบายสหกิจศึกษาสนองตอบความต้องการของสถานประกอบการทุกสาขาวิชา ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ให้กรอบแนวคิดว่า “สหกิจศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานทางวิชาการตามเกณฑ์ของ สกอ. และมาตรฐานวิชาชีพควบคุมตามที่มีกฎหมายรองรับ โดยการดำเนินการสหกิจศึกษานั้นต้องเป็นการจัดประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการ…” ในปีพุทธศักราช 2544 ประเทศไทยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการบริหารสมาคมสหกิจศึกษาโลก ให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุมสัมมนาสหกิจศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 12 ขึ้น และจากการประชุมในครั้งนี้ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้ง “สมาคมสหกิจศึกษาไทย” ขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยมีศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทยคนแรก ผลสัมฤทธิ์ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมสหกิจศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในฐานะหน่วยงานที่ดูแลอุดมศึกษาไทย จึงขอมอบเกียรติบัตรและเชิดชูท่านในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรสหกิจศึกษาและพัฒนาสหกิจศึกษาของประเทศมาโดยตลอดให้เป็น บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2552
นวัตกรรมพัฒนาบุคลากรตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพอุดมศึกษา (Professional Standard Framework - PSF) การพัฒนาบุคลากรตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพอุดมศึกษาของประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในการพัฒนาคณาจารย์และผู้สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการเป็นอาจารย์มืออาชีพในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ของอังกฤษ (UK Professional Standards Framework – UKPSF) 4 ระดับ ได้แก่ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow และ Principal Fellow เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนของสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ (PSF Dimensions) ใน 3 มิติ คือ มิติด้านความรู้หลัก (Core Knowledge) มิติด้านค่านิยมทางวิชาชีพ (Professional values) และมิติด้านกิจกรรม (Areas of activity)