บุญปักธง

บุญปักธง หรือ ประเพณีปักธงชัย ในอดีตเกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครไทย พิธีกรรมกระทำโดยชาวนครไทย ที่พร้อมใจกันนำธงผ้าขาว 3 ผืนไปปักบนยอดเขาฉันเพล ยอดเขาฮันไฮ หรือ ยอดเขาย่านชัย และยอดเขาช้างล้วง ที่ทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ

ภูเขาศักดิ์สิทธิ..ที่มาความเชื่อ

การปักธงไว้บนยอดเขา หรือ การบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา ผีสางเทวดา เป็นการบวงสรวงขอพรให้บันดาลความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารมาสู่ชาวบ้าน การบูชาผีสางเทวดาเช่นนั้น มีมาตั้งแต่อดีต เช่นการบูชาหรือพลีของชาวสุโขทัยที่กระทำต่อพระขพุงผีเทวดา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า มีพระขพุงผีเทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้พลีถูกเมืองนี้เที่ยง เมืองดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ภูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้ม บ่เกรง

ชาวเมืองนครไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไทย-ลาวที่อพยพเข้ามาหลังเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์ และกลุ่มชาวเมืองน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดาบนภูเขา ที่บันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญหารและความสมบูรณ์พูนสุขในการดำรงชีวิต

การทำพิธีบุญปักธงของชาวนครไทย ทำขึ้นที่เขาช้างล้วง ทั้งนี้เป็นเพราะเขาช้างล้วงเป็นภูเขาลูกเดียวที่อยู่ในเส้นทางการคมนาคมของผู้คนที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำน่านในสมัยโบราณ สามารถมองเห็นเป็นที่หมายสำหรับผู้ที่เดินทางได้แต่ไกล และคนกลุ่มนี้มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาอยู่ก่อนแล้ว

บุญปักธง

พระสงฆ์ที่เดินขึ้นเขานั่งฉันเพลที่ถ้ำฉันเพล ก่อนการทำพิธีปักธงที่ยอดเขาฉันเพล

บุญปักธง หรือ ประเพณีปักธงชัย เดิมชาวบ้านนครไทยเรียกว่า บุญปักธง หรือ ไปปักธง ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมามีการจัดงานประจำปีขึ้น จึง เกิดคำว่า ปักธงชัย และใช้เป็นชื่อทางการในเวลาต่อมา บุญปักธงเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 12 เป็นความเชื่อของชาวนครไทยที่ว่า เป็นประเพณีมีกำเนิดและถือปฏบัติกันมาช้านานหลายชั่วอายุคน โดยทุกปีชาวนครไทยจะนำธงที่ร่วมกันทอขึ้นไปปักบนเขาช้างล้วง ที่ทอตัวขนานกับถนานสายนครไทย-ชาติตระการ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร

ชาวนครไทยเชื่อว่าการปักธงจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี โดยเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ปักธงจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือเภทภัยต่างๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหรือเสียชีวิตได้ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น นาคราชจะมาล้างบ้านล้างเมือง ยักษ์จะมากินคน หรือช้างจะมากินข้าวที่ชาวบ้านปลูก

การทำธงของชาวนครไทย

การทำธงสำหรับใช้ในวันบุญปักธงของชาวนครไทยในอดีต เมื่อถึงเดือน 11 พระสงฆ์และผู้นำชุมชนจะเรียกชาวบ้านในหมู่บ้านมานัดหมายว่าจะทำธงที่บ้านใคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้า หรือบ้านของผู้นำหมู่บ้าน แต่ในการทอชาวบ้านจะมาช่วนกันทอ โดยชาวบ้านจะนำฝ้ายที่ปลูกมารวมกันเป็นกองกลาง จากนั้นจะนำมาทอเป็นผืนธง ผู้ทอมักเป็นผู้หญิง เพราะในอดีตผู้หญิงนครไทยส่วนใหญ่สามารถทอผ้ากันได้ทุกคน

ธงมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ชายธงตกแต่งด้วยใบโพธิ์ที่ทำจากไม้ นำไม้ไผ่ยาว 1 ฟุต ใส่หัวท้ายของผืนธง เพื่อถ่วงให้ธงมีน้ำหนักเมื่อนำไปปักบนยอดเขา

การแห่งธงในพิธีบุญปักธง

การแห่ธงของชาวนครไทย เริ่มตั้งแต่หลังจากที่ทำธงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะมาร่วมกันที่วัดเหนือ โดยจะทำการแห่ธงไปยังตลาด มีการสีซอ ตีฆ้อง กลอง และร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน และในตอนเย็นก่อนถึงวันปักธง จะมีการเจริญพระพุทธมนต์เย็น เพื่อฉลองธง

ในตอนเช้าของวันแห่ธง ชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปทำบุญตักบาตรที่วัด คนที่จะขึ้นไปปักธงจะต้องเตรียมอาหารสำหรับตนเองและสำรับไปเลี้ยงพระเพลบนเขา พระสงฆ์และชาวบ้านที่จะขึ้นไปปักธงจะต้องเดินทางเท้าผ่านทุ่งนาและป่าไปที่เขาช้างล้วง และต้องถึงเขาฉันเพลประมาณ 5 โมงเช้าเพราะพระสงฆ์จะต้องฉันเพล หลังจากพระสงฆ์ฉันเพลแล้วชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านจะนำธงของวัดเหนือปีนขึ้นบันไดไม้ไผ่ไปปักธงที่ยอดเขาฉันเพลเป็นแห่งแรก ในขณะกำลังปักธงผู้นำชาวบ้านกล่าวคำอาราธนา พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ผู้นำชาวบ้านนำธงไปผูกกับลำไม้ไผ่ จากนั้นนำลำไม้ไผ่ไปปักไว้ในหลุมบนยอดเขา พร้อมกับกล่าวคำไชโยโห่ร้องกัน เป็นอันเสร็จพิธี

จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านจะเดินทางไปปักธงผืนที่ 2 ที่ยอดเขาย่านไฮ อยู่ห่างจากเขาฉันเพลประมาณ 300 เมตร โดยเป็นธงของวัดกลาง และไปปักธงผืนที่ 3 ที่ยอดเขาช้างล้วง ซึ่งเป็นธงของวัดหัวร้อง โดยพิธีกรรมจะทำเหมือนกับการักธงผืนแรกที่เขาฉันเพล

อ้างอิง

คมเดช สุวรรณชาญ. (ตุลาคม 2554). พ่อขุนบางกางท่าวและเมืองบางยาง : รัฐชาตินิยมผสมท้องถิ่นนิยมกับการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของเมือง นครไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 32(12), 148-169.

ประเพณีสืบสานชาวนครไทยแห่ธงปักบนเขาช้างล้วง. สืบค้นจาก : https://phukhaopost.com/news/3-0-1549-ประเพณีสืบสาน ชาวนครไทยแห่ธงปักบนเขาช้างล้วง

ปักธงชัย. สืบค้นจาก : ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร (องคืการมหาชน) https://www.sac.or.th/databases/ rituals/detail.php?id=98