Loading…

พระชัยวัฒน์เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับตั้งในพิธีมงคลและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อขึ้นรัชกาลใหม่และเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลจึงโปรดให้สร้างพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลเป็นราชประเพณีสืบมา



















พระชัยวัฒน์

พระพุทธรูปสำคัญซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดให้สร้างเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีโบราณ มีพุทธลักษณะพิเศษต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป เรียกว่า พระชัย หรือ พระไชย พระชัย หรือ พระไชย มีลักษณะที่ต่างจากพระพุทธรูปอื่นๆ คือ เป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม ขัดสมาธิเพชร (นั่งอย่างขัดสมาธิ แต่ให้ฝ่าเท้าทั้งสองขึ้นข้างบน) พระหัตถ์ซ้ายถือพัดยศแทนการวางพระหัตถ์บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทอดบนพระเพลาเกือบจรดพื้น มีฉัตร 5 ชั้นกั้นถวาย มีการสันนิษฐานว่าพระชัยน่าจะมีที่มาจากพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งหมายถึงการชนะมาร แต่พระชัยวัฒน์หมายถึงการชนะอุปสรรค ภยันตราย และมีชัยเหนืออริราชศัตรู พระชัย หรือ พระไชย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกพระนามเพิ่มว่า พระไชยวัฒน์ และเปลี่ยนพระนามมาเป็นพระชัยวัฒน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว









พระชัยหลังช้าง

มีปรากฏหลักฐานครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าได้มีการสร้างพระชัยเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลเพื่อทรงสักการะ อัญเชิญประดิษฐานในมณฑลพิธีและอัญเชิญไว้ใกล้ชิดพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเสด็จไปราชการทำศึกสงคราม หากเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ปรากฏในตำราการจัดขบวนเสด็จครั้งกรุงเก่าว่า อัญเชิญพระชัยในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งกิ่งพื้นแดง สมัยรัตนโกสินทร์มักอัญเชิญพระชัยในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และถ้าเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค หรือกระบวนช้าง จะอัญเชิญประดิษฐานบนหลังช้าง แต่ถ้าไปทัพจะเชิญห่อผ้าขาวเสด็จตามไปทัพเพื่อชัยชนะในการสงคราม จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระชัยหลังช้าง

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2325 ปรากฏหลักฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระชัย 2 องค์คู่กัน องค์หนึ่งขนาดใหญ่ องค์เป็นเงิน ฐานเป็นทองคำ มีผ้าทิพย์ เป็นพระชัยประจำรัชกาล และเนื่องจากมีขนาดใหญ่จึงเรียกว่า พระชัยใหญ่ อีกองค์หนึ่งเป็นพระชัยเงิน มีขนาดเล็กเรียกว่า พระชัยหลังช้าง และโปรดให้อัญเชิญพระชัยหลังช้างประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคู่กับพระชัยประจำรัชกาลและพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่นๆ หากมีศึกสงครามก็ยังคงรักษาราชประเพณีเดิมคืออัญเชิญพระชัยนำเสด็จ และยังโปรดให้อัญเชิญพระชัยประจำรัชกาลทั้ง 2 องค์ ตั้งในพระแท่นมณฑลเมื่อมีการพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อัญเชิญพระชัยทั้ง 2 องค์ คือ พระชัยใหญ่และพระชัยหลังช้างที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งในมณฑลพิธีตามโบราณราชประเพณี สำหรับพระชัยที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาล 2 แล้วเสร็จภายหลังเสด็จสวรรคต และในสมัยรัชกาลที่ 3 มิได้ทรงสร้างใหม่ แต่ทรงเลือกพระชัยที่มีอยู่เดิมมาซ่อมแซม และใช้เป็นพระชัยประจำรัชกาล

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 1

องค์พระทำด้วยเงิน ฐานเป็นทอง หน้าตักกว้าง 21 เซนติเมตร สูงถึงยอดรัศมี 32 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 88 เซนติเมตร

พระหลังช้าง ประจำรัชกาลที่ 1

ขนาดเล็ก องค์พระทำด้วยเงิน ฐานเป็นทอง

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 2

องค์พระและฐานเป็นทองมีขนาดใกล้เคียงกันพระชัยในรัชกาลที่ 1

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 3

หน้าตักกว้าง 12 เซนติเมตร สูงถึงยอดรัศมี 18 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 57 เซนติเมตร

จารึกพระคาถา : พระราชนิยมการสร้างพระชัย

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ได้อัญเชิญพระชัยมาตั้งรวม 6 องค์ ร่วมกับพระพุทธรูปพระนามอื่นอีก 6 องค์ รวมเป็น 12 องค์ พระชัยทั้ง 6 องค์ ได้แก่ พระปฏิมาไชย พระไชยทอง หรือพระชัยวัฒน์กะไหล่ทอง พระไชยเงิน พระไชยนวโลหะ พระไชยผ้าห่มลงยาราชาวดี และพระไชยพิธี สำหรับพระชัยประจำประองค์ในรัชกาลที่ 4 มีขนาดเล็กกว่าในรัชกาลที่ 3 และเมื่อ พ.ศ. 2396 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระชัยวัฒน์ทองเนาวโลหะองค์เล็ก เพื่ออัญเชิญไปในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินประทับแรม นอกพระนคร และตั้งในการพระราชพิธีต่าง ๆ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงสืบทอดการสร้างพระชัยตามพุทธลักษณะแบบมารวิชัย พระหัตถ์ขวาถือตาลปัตรแล้ว ยังมีพระราชนิยมในแต่ละรัชสมัย เช่น การจารึกพระคาถาที่ฐาน ซึ่งเริ่มมีมาแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายอันเป็นสิริมงคลแก่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้าง เช่น คำแปลจารึกที่ฐานพระชัยประจำรัชกาลที่ 4 ที่ 5 ว่า พระสยามมินทร์มหาราชาพระองค์ใดทรงบูชาพระพุทธรูปนี้เป็นนิจ ขอพระสยามมินทร์ราชาพระองค์นั้นจงชนะซึ่งแผ่นดินทั้งหมด จงชนะซึ่งข้าศึกทั้งหลายทุกเมื่อ

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 4

เป็นทองทั้งองค์พระและฐาน หน้าตักกว้าง 10 เซนติเมตร สูงถึงยอดรัศมี 17 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 70 เซนติเมตร

พระชัยวัฒน์นวโลหะประจำรัชกาลที่ 4

เป็นทองทั้งองค์ องค์มีขนาดเล็ก

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 5

หน้าตัก 8 นิ้ว สูงถึงยอด รัศมี 28 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 84 เซนติเมตร

พระชัยวัฒน์นวโลหะ ประจำรัชกาลที่ 5

เป็นทองทั้งองค์ องค์มีขนาดเล็ก

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 9

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการรักษาโบราณราชประเพณีโดยอัญเชิญพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลทุกองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 7 มาประดิษฐานที่พระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใน พ.ศ. 2506 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ โปรดให้บรรจุดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและจารึกที่ฐานซึ่งสมเด็จพระญาณสังวรผูกถวาย มีความแปลว่า ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความีขันติเป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้ ผู้บรรลุถึงความสำเร็จนั้นเป็นบัณฑิตได้รับความชนะมากย่อมไม่เกิดความสุขยินดี

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 6

หน้าตักกว้าง 19 เซนติเมตร สูงถึงยอดรัศมี 30 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 87 เซนติเมตร

พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลที่ 7

องค์พระเป็นเงิน หน้าตัก 17 เซนติเมตร สูงถึงพระรัศมี 27 เซนติเมตร สูงถึงยอดฉัตร 82 เซนติเมตร

พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9

หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว ความสูงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว ทรงพัดแฉก หล่อด้วยเงิน ประทับนั่งภายใต้ฉัตร 5 ชั้น

บรรณานุกรม

ความรู้เรื่องการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระชัย-พระชัยวัฒน์ : รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3” รายการจดหมายเหตุกรุงศรี ออกอากาศวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 สืบค้นจาก https://www.youtube.com/ watch?v=mVSA6nMA4EE&list= PLVHyDneyZdx5wF1ywEB9MCB3JTiy88rcw
ความรู้เรื่องการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระชัย-พระชัยวัฒน์ : รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7” รายการจดหมายเหตุกรุงศรี ออกอากาศวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=v-L1NDNqWoI
ความรู้เรื่องการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9” รายการจดหมายเหตุกรุงศรี ออกอากาศวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=cSkwcKcibrA
พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 จาก หอมรดก ไทย : http://thaiheritage.net/king/chaiwat/index1.htm
รัชกาลที่ 1 ตอน 4 พระชัยหลังช้าง พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 จาก https://www.youtube.com/watch?v=risi4S9b70E