พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร หรือคำสามัญคือ พิธีขึ้นบ้านใหม่ ในหนึ่งรัชกาลจะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นโบราณราชประเพณีในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณเมื่อองค์พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก (พระราชพิธีเฉลิมพระยศ) จะเสด็จประทับอยู่เป็นประจำในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง โดยจะต้องจัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียรหรือคำสามัญคือพิธีขึ้นบ้านใหม่ก่อน จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้ ซึ่งมักจะจัดต่อเนื่องจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นี้เป็นการถาวร รัชกาลต่อๆ มาเสด็จมาประทับเป็นการชั่วคราวตามกำหนดพระราชพิธี เนื่องจากได้ทรงสถาปนาพระราชฐานที่ประทับขึ้นใหม่สำหรับเป็นที่ประทับตามพระราชอัธยาศัย และตามความเหมาะสมแห่งยุคแห่งสมัย จึงมิได้ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นประจำเช่นในสมัยก่อน แต่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังต้องจัดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเช่นเดิม
พระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียรมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มจากการเสด็จพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งพัทรบิศ ทรงรับการถวาย 12 พระกำนัล ภายหลังเปลี่ยนเป็นการประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี แล้วเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เชื้อพระวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เช่น วิฬาร ศิลาบด ฟักเขียว พานข้าวเปลือก ถั่ว งา ภายหลังเพิ่มไก่ขาว มีผู้ชำระพระบาท แล้วเสด็จพระราชดำเนินยังห้องพระบรรทม ทรงนมัสการพระรัตนไตร พระราชวงศ์ฝ่ายในถวายดอกหมากทองคำ กุญแจ ทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเป็นพระฤกษ์ ชาวพนักงานประโคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทาน เป็นเสร็จพระราชพิธี
เมื่อเสร็จสิ้นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับที่พระราชมณเฑียรสถาน เครื่องที่เชิญตามเสด็จขึ้นไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ได้แก่ เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางอย่าง
เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ประกอบด้วย
1. ไก่แจ้ขาว
2. ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ หรือที่มีผู้เรียกอย่างสามัญว่า ไม้เท้าผีสิง ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
(ไก่แจ้ขาวและธารพระกร หมายถึง ความงามความมีอำนาจ สองสิ่งนี้มักให้สตรีรูปงามอุ้มและเชิญเพียงคนเดียว)
3. ศิลาบด (หมายถึง ความหนักแน่น หรือหมายถึงความไม่มีโรค)
4. กุญแจทอง (หมายถึง ให้ความยกย่องและต้อนรับสู่บ้านใหม่)
5. พานพืชมงคล (หมายถึง การงอกเงย)
6. จั่นหมากทอง (หมายถึง ความมั่งคั่ง เพราะหมากออกผลคราวหนึ่งเป็นทะลาย)
7.ฟักเขียว (หมายถึง อยู่เย็นเป็นสุข เพราะฟักเป็นผลไม้เนื้อเย็น)
8. วิฬาร์ (หมายถึง การอยู่บ้านใหม่เป็นปกติสุขไม่โยกย้าย เพราะแมวเป็นสัตว์รู้อยู่ ไม่ทิ้งถิ่น)
เป็นเสร็จพระราชพิธี
เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรที่เชิญตามเสด็จขึ้นไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่โบราณกำหนดให้เฉพาะนางเชื้อพระวงศ์เป็นผู้เชิญเท่านั้น
- รัชกาลที่ 2, 3 และ 4 ในจดหมายเหตุจดไว้แต่เพียงว่า “นางเชื้อพระวงศ์เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร” ตามเสด็จพระราชดำเนิน แต่ไม่มีรายพระนาม
- รัชกาลที่ 5 นางเชื้อพระวงศ์ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นหม่อมเจ้า พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 3
- รัชกาลที่ 6 ในจดหมายเหตุจดไว้แต่เพียงว่า “มีนางเชื้อพระวงศ์เชิญพระแสง เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรแลเชิญเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ”
- รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้า พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 และ 5 เชิญทั้งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค ทั้งหมด 16 องค์
- รัชกาลที่ 9 ผู้ที่ทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรจะยืนเข้าแถวเป็นคู่ๆ ประกอบด้วย ผู้ที่ทำหน้าที่นำเทียน 2 คน หลังจากผู้นำเทียน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ต่อจากนั้นเป็นริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร
รายพระนามผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ใน พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นางเชื้อพระวงศ์ ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นหม่อมเจ้า พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 3 คือ
1. หม่อมเจ้าปิ๋วในกรมหมื่นภูมินทรภักดี 1 (ต่อมามีพระเกียรติยศเป็น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์)
2. หม่อมเจ้าสารภีในกรมหมื่นภูมินทรภักดี 1
3. หม่อมเจ้ามณฑา ในกรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล 1
4. หม่อมเจ้าภคินี ในกรมหมื่นอักษรสาส์นโสภณ 1 (ต่อมาเลื่อนเป็นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ)
5. หม่อมเจ้าวิลัยวรในพระองค์เจ้าเปียก 1
6. หม่อมเจ้าประยง ในพระองค์เจ้าลำยอง 1
ในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้า พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 และ 5 เชิญทั้งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค ทั้งหมด 16 องค์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยืนกลาง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงยืนเบื้องขวาพระองค์ แวดล้อมด้วยพระราชนัดดา ในรัชกาลที่ 4 และ 5 ทรงเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค
แถวหน้าจากซ้ายไปขวา
1. หม่อมเจ้าดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า รพีพัฒน์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญศิลาบด
2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญพระแสงดาบฝักทองเกลี้ยง
3. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว
4. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
5. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญพระแสงขรรค์องค์น้อย
6. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มไก่แจ้ขาว และเชิญทานพระกรศักดิ์สิทธิ์
7. หม่อมเจ้าสุริยนันทนา สุริยง พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มวิฬาร์
8. หม่อมเจ้าแขไขจรัสศรี เทวกุล พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 เชิญพานพระกล้อง
แถวหลังจากซ้ายไปขวา
1. หม่อมเจ้าพัฒนคณนา กิติยากร พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญพานพืช
2. หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญจั่นหมากทอง (ทรงเป็นนักเขียน นามปากกา 'ดวงดาว' มักเรียกกันว่า ท่านหญิงดวงดาว)
3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสมสมัย พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มไก่ขาวและเชิญพระแส้หางช้างเผือก
4. หม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญพานฟัก
5. หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เชิญกุญแจทอง
6. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4เชิญพระสุพรรณศรี
7. หม่อมเจ้ารัสสาทิศ สวัสดิวัฒน์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 เชิญพานธูปเทียน
8. หม่อมเจ้าพวงรัตนประไพ เทวกุล พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 เชิญพานพระรัตนกรัณฑ์
9. หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 เชิญพานพระศรี
10. หม่อมเจ้าหญิงผุสดีวิลาส สวัสดิวัตน์ พระราชนัดดา ในรัชกาลที่ 4 เชิญพานดอกไม้
รายพระนามผู้ทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในรัชกาลที่ 9
ผู้ที่ทำหน้าที่นำเทียนมี 2 พระองค์ คือ
1. หม่อมราชวงศ์ประศาสน์ศรี ดิสกุล
2. หม่อมราชวงศ์ปรียา โสณกุล
หลังจากผู้นำเทียน 2 พระองค์แล้ว คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งทรงอัญเชิญดอกพิกุลเงินและพิกุลทอง สำหรับพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยรายทางเสด็จฯ
ต่อจากนั้นเป็นริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ดังนี้
3. พระแสงฝักทองเกลี้ยง หม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล
4. พระแสงขรรค์เพชร รัชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าเฟื่องฉัตร ฉัตรชัย
5. พระแส้หางช้างเผือก หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย
6. ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์และไก่ขาว หม่อมราชวงศ์บุษยา กิติยากร (ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์)
7. ศิลาบดโมรา หม่อมราชวงศ์เยาวลักษณ์ รังสิต
8. พานพืช หม่อมราชวงศ์ทิพาวดี เกษมสันต์
9. กุญแจทอง หม่อมราชวงศ์ทรงสุวรรณ ทองแถบ
10. จั่นหมากทอง หม่อมราชวงศ์กรองทอง ทองใหญ่
11. อุ้มวิฬาร์ (แมว) หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ไชยันต์ (ปกมนตรี)
12. พานฟัก หม่อมราชวงศ์ดวงใจ จิตรพงศ์
ผู้เชิญเครื่องราชูปโภค มีดังนี้
13. พระสุพรรณศรี หม่อมราชวงศ์วิมลโพยม สวัสดิวัฒน์
14. พานพระศรี หม่อมราชวงศ์พวงแก้ว ชุมพล
15. พานพระโอสถ หม่อมราชวงศ์นิสารัตน์ เทวกุล
16. พานพระมาลา หม่อมราชวงศ์ลภาพรรณ วรวรรณ