ประเพณีสำคัญของตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยที่มีมานาน คือ การบวช อัตลักษณ์พิเศษของประเพณีบวชที่นี่ มีการนำช้างมาร่วมในพิธีบรรพชาอุปสมบท คติความเชื่อในการนำช้างมีร่วมพิธีบวช เกิดจาก ชาดกเรื่องพระเวสสันดร ตอนที่พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์จากแคว้นกลิงคราษฎร์ และเมื่อพระเวสสันดรเสด็จกลับบ้านเมือง ได้มีการจัดขบวนช้างม้าและรถศึกไปรับเสด็จกลับ อีกประการหนึ่งมาจาก คำสอนในพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องการบรรลุโลกุตรธรรมหรือโลกอุดร ซึ่งคำว่า อุดร หมายถึงทิศเหนือ ภาษาไทยพวนเรียกสัญลักษณ์ประจำทิศเหนือว่า โงนงก แปลว่า ช้าง

Image

ประเพณีบวชที่หาดเสี้ยว จัดวันที่ 8 เมษายน ของทุกปี ส่วนขบวนแห่งนาคจัดวันที่ 7 เมษายน ก่อนวันบวช หญิงชาวไทยพวนจะไปบอกบุญตามบ้านต่างๆ ไห้มาช่วยงานบวช ก่อนที่จะเริ่มขบวนแห่วันแห่นาคเจ้าภาพจะโกนผมและคิ้วผู้ที่จะบวช ทาหน้าด้วยแป้งเสกกันเหงื่อ แต่งกายนาคอย่างสวยงาม ด้วยผ้านุ่งและเครื่องประดับ รวมทั้งแว่นดำ ซึ่งมีความหมายว่า ยังเป็นผู้มืด ยังไม่ได้เรียนรู้พระธรรมวินัย สวมเทริดประดับศีรษะ ซึ่งถือเป็นสัญญลักษณ์ของหงอนนาค มีกระจกเงาห้อยประดับหูสองข้างเพื่อสำรวจตัวเอง และให้พร้อมสละออกความหลังทั้งหลาย พนมมือถือแผ่นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 – 8 นิ้ว ด้ามเป็นรูปพญานาค ที่เรียกว่าสักกัจจัง แปลว่า เครื่องหมายแห่งความเคารพ ถือเครื่องบูชาต่างๆ เช่นดอกไม้ ธูปเทียน กางร่มใหญ่หรือสัปทนหลายสี รวมถึง “กองบวช” ต่างๆ ก็จะนำขึ้นหลังช้างด้วย “กองบวช” หมายถึง เครื่องอัฐบริขาร ที่แตกต่างไปจากที่อื่นคือที่บ้านหาดเสี้ยวต้องมีผ้ากั้งหรือผ้าที่ใช้ขึงตึงเป็นฉาก เป็นม่านที่ใช้ตั้งในบ้าน ผ้าคลุมหัวช้าง ผ้านั่ง ผ้ากราบพระ และผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งจะต้องใช้ในพิธีบวช เมื่อเป็นพระแล้วก็ยังต้องใช้อยู่ ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ต้องแต่งกายด้วยผ้าพื้นบ้าน ผ้าไทยพวน