พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์”
เมื่อ พ.ศ. 2442 ทรงเจริญพระชนมายุ 6 พรรษา ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร เป็นตึกติดกับประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระบิดาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อพระราชทานการศึกษาอย่างเป็นระบบแก่สมเด็จพระราชโอรสและเจ้านายรุ่นเล็ก โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถทรงห่วงใยในการศึกษาของพระราชโอรสเป็นอย่างยิ่ง ทรงเลือกครูไทยผู้มีความสามารถมาถวายพระอักษรควบคู่กับครูชาวยุโรป
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชกุมาร ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หรือ “คะเด็ดสกูล” ตั้งอยู่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “นักเรียนนายร้อยพิเศษ”
พ.ศ. 2451 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา ทรงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ โรงเรียนประจำชายล้วนที่ดีที่สุดในโลก ทรงศึกษาทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และดนตรี ฯลฯ และทรงสนพระทัยด้านกีฬา โดยทรงร่วมกีฬาแข่งเรือกรรเชียง ตำแหน่งนายท้ายเรือทีม “Novice Eights” ด้านดนตรี ทรงฝึกหัดไวโอลินจนได้ผลเป็นที่พอใจของพระอาจารย์
วิทยาลัยแห่งนี้สอนให้นักเรียนมีระเบียบแบบแผน มีวินัย และได้ฝึกหัดให้เด็กรู้จักปกครองเป็นลำดับชั้น โดยนักเรียนรุ่นเล็กต้องเป็นเด็กรับใช้รุ่นพี่ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ถึงแม้ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายจากสยาม แต่ทรงปฏิบัติพระองค์แบบเดียวกับนักเรียนคนอื่น ทรงสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2453 รวมระยะเวลาการศึกษา 2 ปี
พ.ศ. 2454 ทรงมีพระชนมพรรษา 18 พรรษา ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยวูลิช แผนกทหารปืนใหญ่ม้า ประเทศอังกฤษ ทรงเป็นนักศึกษาหมายเลขทะเบียน 8663 วิชาที่ทรงศึกษาา ได้แก่ ปืนใหญ่ ช่างกลศึก การฝึกทหารราบ กฎหมายทหาร ขี่ม้า พงศาวดารและอุบายทหาร แผนกปกครองทหาร กลศึกช่างและทำแผนที่ ฯลฯ ทรงเอาพระทัยใส่ใจการศึกษาอย่างดี จนผลการศึกษาเป็นที่น่าพึงพอใจ
นายร้อยตรีแห่งสังกัด ‘L’ Battery, Royal Horse Artillery ทรงสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2456 สมเด็จพระเจ้ายอร์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษทรงพระราชทานสัญญาบัตรยศให้เป็น “นายร้อยตรีกิตติมศักดิ์” แห่งกองทัพบกอังกฤษ และได้เสด็จเข้าประจำการในกองทหารปืนใหญ่ม้า สังกัด ‘L’ battery, royal horse artillery เมืองอัลเดอร์ชอต (Aldershort) เพื่อทรงศึกษาและฝึกฝนหน้าที่นายทหาร โดยทรงมีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกับนายทหารอังกฤษทุกประการ แต่เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จนิวัติสยาม เมื่อ พ.ศ. 2458
หลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงพระผนวชและอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 ได้เสด็จไปศึกษาวิชาทหารบกที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเอกอล เดอ แกร์ (Ecole Superieure de Guerre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยก่อนที่จะทรงเข้าศึกษาได้ทรงฝึกในหน่วยทหารก่อน 1 ปี ในโรงเรียนเสนาธิการ ทรงทำคะแนนได้ดีมาก คือ วิชาการวางแผนกลยุทธ์และวิชาปืนใหญ่ ทรงได้รับความชื่นชมว่า มีพระสติปัญญาฉลาด สุขุม อ่อนโยน มีความรู้รอบตัวลึกซึ้ง สนพระทัยความรู้หลายด้าน
ทรงสำเร็จการศึกษาและและทรงได้รับประกาศนียบัตรเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2467 ทรงเป็นนายทหารในโรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส รุ่นที่ 44 ร่วมรุ่นกับนายพลชาร์ล เดอ โกลด์ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก.