สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
9/9 หมู่.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร.02-504-7463-65
จารึกพระสุพรรณบัฏ เครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระราชอำนาจและความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ อันเป็นเสมือนสมมุติเทพที่มาปกครองดูแลเหล่าอาณาประชาราษฎร์ ให้อยู่กันอย่างสงบสุข การจารึกพระสุพรรณบัฏเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติของคนไทยสมัยโบราณที่เต็มไปด้วยศรัทธาและความเชื่อในพระพุทธศาสนาและอิทธิพลศาสนาพราหมณ์และฮินดู
พระสุพรรณบัฏ เป็นเครื่องมงคลอย่างหนึ่งอันมีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งที่ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่สมัยโบราณ แสดงถึงพระราชอำนาจและความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ อันเป็นเสมือนสมมุติเทพที่มาปกครองดูแลเหล่าอาณาประชาราษฎร์ ให้อยู่กันอย่างสงบสุข
สุพรรณบัฏ หมายถึง แผ่นทองคำ นิยมทำเป็นแผ่นบางๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนาประมาณ 0.1 เซนติเมตร เมื่อจารึกอักษรข้อความลงบนแผ่นทองคำแล้วจะเรียกว่า จารึกแผ่นทอง หรือ พระสุพรรณบัฏ ส่วนใหญ่จารึกแผ่นทองเป็นของที่พระมหากษัตริย์โปรดให้สร้างขึ้น และเรียกว่า จารึกพระสุพรรรบัฏ
จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นของสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมไว้ก่อนจะเริ่มงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนั้นจึงต้องมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ขึ้นก่อนที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้น
พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพิธีการหลายขั้นตอน พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลเป็นขั้นตอนการเตรียมประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากต้องมีการถวายพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไภย ก่อนที่จะถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ อื่น ๆ และต้องเชิญดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาลขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏต้องหาฤกษ์ที่เป็นมงคลกับองค์พระมหากษัตริย์ที่จะทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อโหรกำหนดพระฤกษ์วันจารึกพระสุพรรณบัฏได้แล้ว ตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ โหรสวดบูชาเทวดา เช่าวันรุ่งขึ้นก่อนเวลาพระฤกษ์ พระราชวงศ์ที่เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีจะทรงประเคนอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ประธานในพิธีจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการและทรงศีล จากนั้นจึงเริ่มพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
จารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3 มีพระนามขึ้นต้นและมีสร้อยพระนามเหมือนกันทุกรัชกาล ว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตวรนายก ดิลก รัตนราช ชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลย์คุณอกนิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร” สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระสังฆราชตรวจแก้ถวายพระปรมาภิไธยที่จารึกพระสุพรรณบัฏให้แตกต่างจากรัชกาลก่อน และเรียกแผ่นดินของพระองค์ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิยมนี้ได้ปฏิบัติสืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน และทรงโปรดให้เรียกพระนามอดีตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนตามนามพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศไว้ ดังนี้ - รัชกาลที่ 1 ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก - รัชกาลที่ 2 ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย - รัชกาลที่ 3 ให้เรียกว่า แผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบพระราชพิธีวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2493 ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพิธีตั้งโต๊ะสำหรับจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล จำนวน 8 ตัว ประกอบด้วย - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพ - โต๊ะแกะพระราชลัญจกร - โต๊ะจารึกพระสุพรรรณบัฏพระนามสมเด็จพระสังฆราช - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย - โต๊ะจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตมงคล ทุกโต๊ะจะมีเทียนเงินเทียนทองกับพานดอกไม้ตั้งอยู่ นอกจากนี้ในพระอุโบสถยังตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง ๓ ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำว้า หัวหมู สำหรับบูชาพระฤกษ์ อาลักษณ์ผู้จารึกพระสุพรรณบัฏแต่งกายด้วยเครื่องขาวและรับศีล เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต องค์ประธานในพิธี จุดเทียนเงินเทียนทองทุกโต๊ะ อาลักษณ์ผู้จารึกต้องนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คล้องสายสิญจน์ และหันหน้าไปสู่ทิศมงคล เมื่อได้พระฤกษ์โหรลั่นฆ้องชัย อาลักษณ์และโหรลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระราชสมภพ นายช่างแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
9/9 หมู่.9 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 โทร.02-504-7463-65