ชาวมอญเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต มีอารยธรรมที่เก่าแก่ เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับชาวสยามมาแต่โบราณ ได้ถูกพม่ารุกรานจนต้องอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทยหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยทั้ง จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
บางลำพูในอดีต
ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เคยเป็นบ้านมอญมาก่อน มีวัดชนะสงครามเป็นศูนย์กลาง
วัดชนะสงคราม เดิมชื่อ วัดกลางนา เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร ใน พ.ศ. 2325
เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
รัชกาลที่ 1 วัดกลางนาจึงกลายเป็นวัดที่อยู่ในกำแพงเมืองพระนคร
สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โปรดเกล้าฯ
ให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดกลางนาให้พระสงฆ์รามัญจำพรรษา
เพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่ชาวมอญเป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดชนะสงคราม ชาวมอญเรียกวัดกลางนาว่า วัดตองปุ
บริเวณโดยรอบวัดชนะสงครามในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญ
ทั้งครอบครัวทหาร และชาวมอญจากที่อื่นที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐาน
ผู้นำมอญคนสำคัญที่อาศัยอยู่ในย่านนี้คือ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรี่ยะ)
บ้านอยู่ใกล้วัดชนะสงคราม ต่อมาเป็นวังของเหลนท่านคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานเรศวรฤทธิ์
พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดากลิ่น
หลานของท่าน
ในอดีตชุมชนมอญแห่งนี้เจริญเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันเหลือเพียงวัดชนะสงคราม
ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นมอญย่านบางลำพูในอดีตเท่านั้น
บางไส้ไก่ ตั้งอยู่ในซอยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรุจี
ชาวมอญที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อพยพมาจากเมืองทวายและเมืองมะริด
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
เดิมที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ชาวมอญกลุ่มนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณสะพานพระราม 6 ใกล้วัดละมุด ปัจจุบันคือ วัดวิมุติยาราม มีโรงเรือหลวงตั้งอยู่ ชาวมอญกลุ่มนี้มีความรู้ความชำนาญทางด้านเรือ
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ชายเข้ารับราชการเป็นฝีพายหลวง ต่อมามีการย้ายโรงเรือหลวงไปที่คลองบางกอกใหญ่ บริเวณปากคลองวัดบุปผาราม (วัดดอกไม้) ไปจนถึงปากคลองบางไส้ไก่ ชาวมอญกลุ่มนี้จึงย้ายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้
เกิดเป็นชุมชนมอญที่เรียกกันว่า บ้านมอญ ต่อมาชาวมอญได้ร่วมกันสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
เรียกชื่อว่า วัดมอญรามัญ
บริเวณปากคลองบางไส้ไก่เดิมเป็นที่อยู่ของผู้นำมอญตำแหน่ง จักกาย จึงเรียกย่านนี้เพี้ยนเป็น บางสะกาย ต่อมาเพี้ยนเป็น บางไส้ไก่ และเป็นที่มาของชุมชนมอญบางไส้ไก่
และวัดมอญรามัญ ถูกเรียกว่า วัดมอญบางไส้ไก่ ต่อมามีชื่อเป็นทางการว่า วัดประดิษฐาราม
ปัจจุบันคนมอญบางไส้ไก่กลายเป็นคนไทย
พูดภาษามอญไม่ค่อยได้ แต่ยังคงมีร่องรอยของวัฒนธรรมมอญที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่
ได้แก่ สงกรานต์มอญ การบวงสรวงเจ้าพ่อบางไส้ไก่ ผีกลางบ้านของชุมชน
และประเพณีแห่งหางหงส์
คนมอญบางกระดี่ อยู่สองฝั่งคลองสนามชัย แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน
คนมอญกลุ่มนี้อพยพมาจากมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และคลองสุนัขหอน จังหวัดสมุทรสงคราม ประมาณ พ.ศ. 2394 – 2411 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อขยายพื้นที่ทำมาหากิน ไม่ใช่ชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองมอญโดยตรง โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน บริเวณที่เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ มีป่าจาก ป่าหวาย และฟื้น
ชาวมอญบางกระดี่เดิมมีอาชีพ ทำประมง เย็บจาก ทอเสื่อกก ตัดฟืน เผาถ่าน โดยฟืนและถ่านจะส่งไปขายให้ชาวมอญปากเกร็ดและมอญสามโคกใช้เป็นเชื้อเพลิงทำเครื่องปั้นดินเผา
ชาวมอญบางกระดี่ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม เป็นบ้านทรงไทยใต้ถุนสูง มีวัดบางกระดี่เป็นวัดประจำชุมชนสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2420
ประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญบากระดี่ ได้แก่ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรดอกไม้ การเล่นสะบ้า การเล่นทะแยมอญ และการกวนกาละแม
มอญบางกระดี่เป็นชุมชนมอญที่มีขนาดใหญ่ที่ยังคงดำรงความเป็นมอญไว้ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร และยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีมอญไว้ได้อย่างเข้มแข็ง จนถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของคนมอญในชุมชน สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
ปัจจุบันมอญบางกระดี่เป็นชุมชนมอญที่มีขนาดใหญ่ที่ยังคงดำรงความเป็นมอญไว้ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ชุมชนมอญลาดกระบัง
ตั้งอยู่บริเวณริมคลองมอญ ที่แยกมาจากคลองลำปลาทิว หรือเรียกว่า สามแยกปากคลองมอญ มี วัดสุทธาโภชน์ เป็นวัดของชุมชน
ชาวมอญลาดกระบังเป็นคนมอญที่อพยพมาจากกลุ่มคนมอญพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากชุมชนเดิมแออัด
ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ
ให้ขุดคลองบริเวณรอบนอกพระนคร เพื่อประโยชน์ในการคมนาคมและเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการทำนา
ชาวมอญพระประแดงและสมุทรสาครจึงได้เดินทางขยับขยายมาบุกเบิกทำนาบริเวณคลองมอญ
ในระยะแรกจะเดินทางมาเฉพาะฤดูทำนา โดยปลูกกระท่อมเล็กๆ ไว้พักพิงชั่วคราว
เมื่อหมดฤดูทำนาก็จะกลับไปอยู่พระประแดงและสมุทรสาครเหมือนเดิม
ในเวลาต่อมาเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวรจนกลายเป็นชุมชน ราว พ.ศ. 2437 ได้สร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางชุมชน
ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า
วัดมอญ หรือ วัดสุทธาวาส อยู่ริมคลองลำปลาทิวใกล้ปากคลองมอญ เจ้าจอมมารดากลิ่น บุตรีพระยาดำรงราชพลขันธ์
(จุ้ย) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เห็นว่าการมาวัดในฤดูแล้งไม่สะดวก
จึงทูลขอพระบรมราชานุญาตย้ายวัดออกมายังบริเวณสามแยกปากคลองมอญฝั่งเหนือและริมคลองลำปลาทิวฝั่งตะวันออกใน
พ.ศ. 2459 และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดสุทธาโภชน์
ปัจจุบันชาวมอญในย่านนี้ยังคงรักษาวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ
พิศาล
บุญผูก. (2565). วิถีมอญในไทย. นนทบุรี: โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนพหุปัญญา
สำนักบรรณสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สุภาภรณ์
จินดามณีโรจน์ และคณะ. (2554). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเก่าในกรุงเทพมหานคร. คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร.
created with
Best Website Builder .