ยุคทองแห่งศิลปกรรม
“ประเพณีลือก้อง ทองโบราณ ย่านผ้าซิ่น ถิ่นมรดกโลก”
จากคำขวัญประจำอำเภอศรีสัชนาลัยนี้ แสดงว่าสุโขทัย เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปกรรมถึงขั้นสูงสุดของไทย ลวดลายศิลปะสมัยสุโขทัย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนสุโขทัย ดังที่มีหลักฐานปรากฏตามโบราณสถาน เช่นลายปูปั้นวัดนางพญา วัดมหาธาตุ วัดศรีชุม เป็นต้น ลายต่างๆ เป็นที่รู้จักในงานช่างศิลปกรรมไทย เช่น ลายประจำยาม ลายลูกแก้วก้านแย่ง ลายลายลูกแก้ว ลายกระจัง ลายชัยพฤกษ์ ลายกาบบัว ลายครีบสิงห์ ลายน่องสิงห์ เป็นต้น รวมทั้งหลักฐานที่ปรากฏบนเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายเครือเถา ลายรูปหงส์ ลายนกยูง อัปสร กินรกินรี เป็นต้น ลายต่างๆ เหล่านี้ มีปรากฏอยู่บนลวดลายผ้าไทด้วย เช่น ลายเทพนม ลายรูปสัตว์ ลายพรรณพฤกษา ลายกระจัง ลายประจำยาม เป็นต้น
ผ้าในราชสำนักสุโขทัย มีหลักฐานปรากฏ กล่าวถึงผ้าในราชสำนักสยาม คือผ้าไหม ผ้าแพรติ้ง ผ้ากำมะหยี่ ผ้าเบญจรงค์ เสื้อลายทอง ผ้าเหล็กหลก ผ้าสาลี ผ้าชมพู ผ้าหนัง ผ้าเกราะ ผ้าไหมเทศ ผ้าทิพย์ แสดงว่า คนสมัยสุโขทัย มีวัฒนธรรมการทอผ้าที่รุ่งเรือง จากบันทึกของจิวต้ากวนเมื่อ พ.ศ. 1839 กล่าวว่า ชาวสยามมีการเลี้ยงไหม ปลูกหม่อน และทอผ้าไหมยกดอก
ซิ่นสองวัฒนธรรม ความงามที่เหมือนและแตกต่าง
ร้อยกว่าปีมาแล้ว ณ พื้นที่ศรีสัชนาลัย กลุ่มชาวไทพวนจากเมืองเชียงขวาง ทางใต้ของหลวงพระบางอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านหาดเสี้ยวและบ้านหาดสูง และต่อมาก็มีชาวไทยวนที่อพยพย้ายถิ่นฐานหนีภัยสงครามจากตอนเหนือของประเทศสยามมาอยู่ที่บ้านป่างิ้ว วังคา ภูนก ท่าโพธิ์ และบ้านตึก สองกลุ่มชาติพันธุ์นี้ได้สร้างสรรค์ผืนผ้างดงามจากมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้ถ่ายทอดมาให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อรุ่นจนถึงปัจจุบัน แม้จะเหลือเพียงกลุ่มผู้สูงวัยที่ใส่ใจทอผ้า แต่ก็ยังมีผลงานที่สืบทอดออกมาให้ชื่นชมอย่างต่อเนื่อง หากแต่วิถีและชิ้นงานก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมของสังคมและท้องถิ่น
ผ้าซิ่น หมายถึง ผ้าที่เย็บเป็นถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง มีขนาดสั้นหรือยาว กว้างหรือแคบต่างๆ กันไป สมัยโบราณ ผ้าซิ่นเป็นผ้าที่บ่งบอกสถานภาพของผู้เป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของชุมชนที่เป็นผู้ผลิต โดยดูจากโครงสร้าง ลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และท้องถิ่น โดยทั่วไป วิธีนุ่งผ้าซิ่นของทุกกลุ่มชาติพันธ์ จะนุ่งทบจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย เหน็บชายพกตรงเอว เชิงซิ่นเสมอกัน หรือจะทบทั้งซ้ายและขวาให้มาอยู่ตรงกลาง พับชายเหน็บที่เอว
โครงสร้างผ้าซิ่น ไม่ว่าจะเป็นผ้าของชาติพันธุ์ไทยวนหรือไทพวนก็ตาม ประกอบด้วยสามส่วนที่นำมาเย็บต่อกัน คือ หัวซิ่น คือส่วนบนสุดของผ้า ตัวซิ่น คือส่วนที่ต่อจากหัวซิ่นลงมาจนถึงด้านล่าง นิยมทอเป็นลายขวาง และนิยมทอลายบนตัวซิ่น ส่วนตีนซิ่นหรือเชิงซิ่นอยู่ตรงปลาย ความยาวของผ้าซิ่น ขึ้นอยู่กับความกว้างของฟืมที่ใช้ในการทอผ้า สมัยโบราณฟืมทอผ้ามักจะหน้าแคบ จึงได้ตัวซิ่นสั้น ต้องต่อผ้าพื้นตรงหัวซิ่นและตีนซิ่น (ส่วนปลาย) เพื่อประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างคงทนเพราะสตรีสมัยก่อนต้องทำงาน เมื่อขาดก็เปลี่ยนเฉพาะส่วนได้ แต่มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผ้าชิ้นเดียวคือผ้าคนตาย จึงไม่นิยมใช้ผ้าชิ้นเดียวทำซิ่น
ตีนซิ่นมักจะเป็นผ้าพื้นเรียบ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของผ้า มักทอด้วยฝ้ายเส้นใหญ่หนาและมีน้ำหนัก แสดงสถานภาพ วัย และความสามารถของผู้ทอ ใช้สีดำหรือแดง ริมสุดของตีนซิ่นเป็นสีเหลืองสด กว้างประมาณ 1 เซนติเมตรยาวตลอดผืน ถ้าตีนซิ่นสีดำ คือหญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้สูงอายุ ตีนซิ่นสีแดง คือยังไม่แต่งงาน หญิงสาวและเด็กยกเว้นผ้าที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษเช่นงานบุญต่างๆ จะทำตีนซิ่นด้วยการทอแป็นลวดลายด้วยกรรมวิธี เช่น การจกหรือการยกดอกลายให้สวยงามพิเศษแสดงถึงความสามารถ ความประณีตของผู้ทอ :ตีนซิ่นไทพวนแตกต่างกับไทยวนคือ ซิ่นไทพวนที่ทอลาย จะทอเต็มตีน แต่ซิ่นไทยวนจะทอเฉพาะส่วนบนของตีน ส่วนล่างเป็นพื้นสีแดงหรือดำธรรมดา
หญิงศรีสัชนาลัย ใช้ผ้าซิ่นที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน 16 ชนิด คือ ซิ่นเข็น ซิ่นตามะโดน ซิ่นลายร่องแดง ซิ่นอ้อมแหล้ ซิ่นตาหว้า ซิ่นน้ำอ่อย ซิ่นล้วง ซิ่นดำปึก ซิ่นตามะนาว ซิ่นอ้อมขาว ซิ่นอ้อมเหลือง ซิ่นตาผ่าใหญ่ ซิ่นตาเติบ ซิ่นมุก ซิ่นตาผ่าน้อย ซิ่นตาถี่ ซิ่นแขบแย๊ และซิ่นตีนจก
ผ้าในราชสำนักสุโขทัย มีหลักฐานปรากฏ กล่าวถึงผ้าในราชสำนักสยาม คือผ้าไหม ผ้าแพรติ้ง ผ้ากำมะหยี่ ผ้าเบญจรงค์ เสื้อลายทอง ผ้าเหล็กหลก ผ้าสาลี ผ้าชมพู ผ้าหนัง ผ้าเกราะ ผ้าไหมเทศ ผ้าทิพย์ แสดงว่า คนสมัยสุโขทัย มีวัฒนธรรมการทอผ้าที่รุ่งเรือง จากบันทึกของจิวต้ากวนเมื่อ พ.ศ. 1839 กล่าวว่า ชาวสยามมีการเลี้ยงไหม ปลูกหม่อน และทอผ้าไหมยกดอก
ยังมีอีกวิธีที่ใช้ในการทำให้เกิดลวดลาย คือ ยกดอก โดยการยกเขาแยกเส้นยืนขึ้นลง แต่ไม่เพิ่มเส้นด้ายพิเศษเข้าไปในผืนผ้าเช่นเดียวกับการจก แต่บางครั้งในการยกดอกอาจเพิ่มเส้นพุ่งตั้งแต่สองเส้นขึ้นไป หรือเพิ่มดิ้นเงินดิ้นทอง ซึ่งจะทำให้ได้ลวดลายเหมือนกับการจกมาก จนเกือบไม่เห็นข้อแตกต่าง จะทราบได้เมื่อตรวจสอบใกล้ชิดเท่านั้น
ลายจก เส้นด้ายพุ่งพิเศษที่เพิ่มเข้าไป สามารถดึงออกได้โดยไม่ทำให้เนื้อผ้าเสียหาย แต่ถ้ายกดอก ดึงไม่ได้เพราะจะทำให้ผ้าเสียหาย
มุก เป็นวิธีการทอผ้าที่กลุ่มไทยพวนใช้ โดยเพิ่มด้ายเส้นยืนเข้าไปในผืนผ้า จะได้ลวดลายที่เหมือนกันมากกับการจก หาดเสี้ยวนิยมใช้การทอแบบมุกในการทอตัวซิ่น ทำเป็นลายขนาดเล็ก
ซิ่นสองวัฒนธรรม ความงามที่เหมือนและแตกต่าง
ซิ่นตีนจกหาดเสี้ยว ประกอบด้วย ลายหลักและลายประกอบ ลวดลายมีทั้งรูปเรขาคณิต รูปสัตว์ รูปดอกไม้ รูปเครือเถา ในลายหลัก มีทั้งลายที่เป็นของโบราณ และลายที่พัฒนาใหม่ ส่วนลายประกอบ เป็นลายที่มีอยู่ในผ้าตีนจกตั้งแต่ส่วนตัวซิ่นลงมา
ลวดลายในผืนผ้าตีนจกไทยวน ไม่ว่าจะเป็นลวดลายโคม ลายขัน หรือลายขอ ลายนกไล่ ลายกุดลาว เป็นต้น ที่มีการสร้างลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ มีความเป็นจำเพราะของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวภายในกรอบจารีตเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างลวดลายให้แตกต่างไปในแต่ละหมู่บ้าน เช่น การเพิ่มลวดลายพิเศษลงในชุดลายโคม ลายขัน ลายโง๊ะ หรือช่วงหางสะเปา ซึ่งรายละเอียดของความแตกต่างด้านลวดลายเหล่านี้เป็นสิ่งควรจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเพราะซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในแต่ละท้องที่จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป
การนุ่งผ้าซิ่นเป็นวัฒนธรรมของชนหลายาชาติพันธุ์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเผ่าไท ซึ่งมีกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ การทอผ้าซิ่น การนุ่งซิ่น จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเผ่าไทที่จะต้องดำรงรักษา พัฒนาเพื่อให้สืบทอดไปถึงคนรุ่นหลัง