มอญในราชสำนักสยาม

คนมอญเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนักสยาม ตั้งแต่เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นตระกูลคชเสนี เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และเข้ารับราชการเป็นขุนนางในราชสำนักกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนในย่านปากเกร็ด เมืองนนทบุรี ไปจนถึงย่านสามโคก เมืองปทุมธานี

พระยาเจ่งและทหารมอญมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับกองทัพสยามในการทำสงครามเพื่อรักษาพระราชอาณาจักรสยาม จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยาเจ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธา บังคับบัญชากองทัพมอญทั้งหมด และ พ.ศ. 2330 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบทบาทอย่างมากในการศึกสงครามระหว่างสยามกับพม่า พม่าจึงคิดจะแย่งตัวโดยส่งหนังสือมายังสยามเพื่อให้ส่งตัวคืนให้กับพม่าเพราะถือว่าเป็นคนของพม่า แต่ไทยไม่ยอม พม่าจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงนำทัพหลวงขึ้นไปตีพม่าแตกพ่ายไป

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ได้ตำแหน่งปกครองชาวมอญแทนบิดา และถือเป็นต้นตะกูลสำคัญในสกุลคชเสนี

พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ได้ถวายบุตรสาวชื่อ กลิ่น เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล กฤดากร

สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏย่านที่อยู่อาศัยของชาวมอญบริเวณทิศใต้ของพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแนวคลองขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกคลองบางกอกใหญ่ เรียกว่า คลองมอญ สันนิษฐานว่าอาจจะเรียกตามที่ตั้งบ้านเรือนของท้าวทรงกันดาล (ทอง หรือ ทองมอญ) ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ท้าวทรงกันดาลมีธิดา 1 คน ชื่อ ทิม นำขึ้นถวายเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหราราช มีพระโอรสคือพระองค์เจ้าอัมพวัน