มอญในราชสำนักสยาม

พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยกับชาวมอญและความเป็นมอญ เนื่องจากทรงพระผนวชเป็นระยะเวลานานถึง 27 พรรษา ทรงประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ โดยเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. 2394 พระดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ขณะเป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม ได้ถวายธิดา ชื่อ กลิ่น ให้เป็นบาทบริจาริกา มีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชาธิบายเรื่องพงศาวดารสยามให้กับเซอร์จอห์นเบาริ่ง ราชทูตอังกฤษว่า บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญอยู่ในกรุงหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา...คือพระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดขุนแสน...พระยาเกียรติ พระยารามนี้ได้มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช...ต่อมาหลานท่านหนึ่งของออกพระวิสุทธสุนทร ชื่อทองดีได้เข้ารับราชการกับเจ้าพระยาพิษณูโลก...และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอักษรสุนทร (ทองดี) พระอักษรสุนทร (ทองดี) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อทองด้วง ซึ่งต่อมาขึ้นเสวยสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าเชื้อสายของชาวมอญเป็นส่วนหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์