. . .

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดาองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ซึ่งไม่สามารถสืบราชสมบัติได้ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดขน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งทรงเป็นรัชทยาท จึงทรงรับสิริราชสมบัติ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรชายา ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงย้ายราชสำนักมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตโดยมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2469

พระราชวังดุสิตในครั้งนั้น แบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก และเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่อยู่ของฝ่ายชาย หญิงจะอยู่ได้เฉพาะสตรีที่แต่งงานแล้วและเด็ก ผู้ที่ยังมิได้สมรสแต่ทรงได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าออกเขตพระราชฐานชั้นนอกได้ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ พระอภิบาลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เขตพระราชฐานชั้นในเป็นบริเวณที่ห้ามบุรุษอื่นเข้า คงมีเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเด็กชาย พระราชฐานชั้นในหมายถึงบริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ และตำหนักที่ประทับของพระมเหสีเทวี พระราชธิดาและเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและตะวันตกของเขตพระราชฐาน ซึ่งประกอบด้วยสวนต่างๆ มี สะพาน ถนน มีคลองเชื่อมต่อกัน มาบรรจบกันที่คลองอ่างหยก ซึ่งแยกพระที่นั่งอัมพร กับเขตพระราชฐานชั้นใน มีเรือนต้นซึ่งเป็นหมู่เรือนไทยฝากระดานริมคลองอ่างหยก ระเบียบชาววังเข้มงวดมาก เขตพระราชฐานชั้นในมีแต่สตรีและเด็ก ฝ่ายชายที่ไม่ใช่เด็กเข้าไม่ได้ ยกเว้นพนักงานชาวที่หรือคนทำความสะอาด ซึ่งเวลาเข้าจะมีผู้หญิงที่ทำหน้าที่โขลนคุมให้เข้าออกตามเวลา

พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นที่ทรงว่าราชการในฐานะพระมหากษัตริย์ เช่น ประชุมคณะอภรัฐมนตรีสภา เสด็จออกให้ขุนนาง ข้าราชการ ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่คู่สมรส เช่น วันที่ 23 พฤสจิกายน พ.ศ. 2471 เวลา 17.00 น. เสด็จออกพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในพิธีเสกสมรสระหว่าง หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร กับหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ ทรงเจิมและพระราชทานเงินรับไหว้แก่เจ้าบ่าว 10 ชั่ง เจ้าสาว 5 ชั่ง คู่สมรสลงนามในสมุดทะเบียนเฉพาะพระพักตร์ ทรงลงพระปรมาภิไธยพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายและข้าราชการลงพระนามและลงนามเป็นพยาน

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งโรงช้างพระราชวังดุสิต เพื่อจัดพิธีสมโภชช้างเผือกประจำรัชกาล พระราชทานราชทินนามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ



ช่วงต้นรัชกาล ส่วนใหญ่ประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อถึงฤดูหนาวก็ทรงย้ายไปประทับที่วังศุโขทัย หมดหน้าหนาวจึงกลับมาพระที่นั่งอัมพรสถาน

ปกติจะตื่นบรรทมประมาณ 09.00 น. แต่หากมีพระราชกิจที่ต้องทรงปฏิบัติตอนเช้า ก็ตื่นประมาณ 06.00 น. เสวยเครื่องเช้าร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินี พระกระยาหารเช้า จัดในถาด มีโต๊ะเตี้ยรองบนพระที่ มีกาแฟ ขนมปังกรอบ เนยสด ตับบด แต่ถ้าไม่มีพระราชกิจตอนเช้า ก็เสวยเครื่องเช้ารวมกับกลางวันในเวลา 10.30 น. เวลาบ่าย 16.00 น.- 16.30 น. เสวยเครื่องว่างร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินีและเด็กๆ ในพระราชอุปการะ



ตอนเช้าเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องบรรทมแล้ว เด็กๆ ในพระราชอุปการะจะเข้าเฝ้าฯ ได้เมื่อมหาดเล็กมาเรียก ถ้ามีเวลาจะประทับพระเก้าอี้นวม ทรงเล่านิทาน หากมีคนมาคอยเฝ้า จะทรงแต่งพระองค์ หวีพระเกศา แล้วเสด็จฯ ออกห้องที่ติดกับห้องบรรทม ห้องบรรทมคงจะเป็นห้องใดห้องหนึ่งที่ชั้นสองของพระที่นั่ง ซึ่งมีห้องบรรทมหลายห้อง

การทรงพระสำราญกับเด็กๆ ในพระราชอุปการะ เช่น การทรงเล่านิทานก่อนนอน แจวเรือจากคลองในสวนดุสิตออกไปเขาดินวนาตอนเย็น และกลับตอนค่ำ ในยามค่ำคืน จะมีเสียงมโหรีพิณพาทย์บรรเลงระหว่างเสวยพระกระยาหารค่ำทุกวันพฤหัสบดี

ทรงใช้เวลาว่างออกพระกำลัง เวลา 17.00 น. – 18.00 น. ทรงกอล์ฟ เทนนิส สควอช โปรดกีฬากอล์ฟมาก ทรงกล์ฟที่ราชกรีฑาสโมสรหรือสนามกอล์ฟหลวงจิตรลดา ราชตฤณมัยสมาคม ก่อนเสด็จกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน บางวันทรงเทนนิสที่วังศุโขทัยตอนเย็นแล้วกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน บางครั้งก็ทรงพายเรือ ว่ายน้ำ มีสระว่ายน้ำที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนเยาวกุมารที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต มีหลักสูตรการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนทั่วไป มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ศีลธรรม พุทธศาสนา ภายหลังโรงเรียนนี้ย้ายไปอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานและเลิกไปในที่สุด

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะราษฎรใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการของคณะราษฎรและเป็นที่ประชุมสภา ศูนย์กลางของราชสำนักจึงย้ายจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากทรงย้ายที่ประทับไปสวนจิตรลดา หรือวังศุโขทัย จนสิ้นรัชกาล

บรรณานุกรม



ศิริน โรจนสโรช. (2556) พระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน 120 ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก น. 133 – 145. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.