พัดรอง
ในงานพระราชพิธีสำคัญพระมหากษัตริย์มักจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างของที่ระลึกถวายแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์พระราชาคณะขึ้นไป ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงกำหนดให้ทรงสร้างพัดรอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสมณบริขารที่จำเป็นของพระสงฆ์เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ด้วย

พัชนี ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พัดไอยราพต งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5

พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6

พัดสามศร งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7

พัดรอง
ตาลปัตร เป็นพัดสำหรับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา เป็นสมณบริขารสำหรับประกอบพิธีกรรม เดิมมีขนาดเล็ก ลักษณะมนกลม ด้ามสั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ไทยนิยมถือพัชนี ที่มีลักษณะรูปรีงองุ้มคล้ายจวักที่ใช้ตักแกง พัดวิชนีเป็นเครื่องยศของขุนนาง เมื่อเจ้าของสิ้นชีวิตทายาทมักนำไปถวายพระสงฆ์ซึ่งในเวลานั้นเข้าใจกันว่าพระสงฆ์ที่มีบรรดาศักดิ์จะถือพัชนี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดรูปลักษณะของพัดว่ารูปร่างไม่เป็นมงคล จึงมีพระราชดำริให้สร้างพัดรองขึ้น เพื่อใช้แทนพัชนี โดยดัดแปลงตาลปัตรให้มีรูปกลมมนคล้ายพัดใบตาล ทำโครงขึ้นด้วยไม้ แล้วใช้ผ้าแพรอย่างดีคลุมทั้งสองด้าน ขลิบด้วยผ้าโหมด

พัดไอยราพต
พัดไอยราพตหรือพัดเอราวัณ พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 ใบพัดเป็นวงรี พื้นแพรสีฟ้าอมเทา ปักไหมหลากสีเป็นลายพระเกี้ยว พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลายจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มีฉัตรประดับ ๒ ข้าง อยู่เหนือตราอาร์มรูปไอยราพต หรือรูปช้าง ๓ เศียร มีราชสีห์และคชสีห์ขนาบซ้ายและขวา ด้านบนและด้านล่างมีแถบริบบิ้นสีชมพูจารึกข้อความ “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพย์มหามงกุฎ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. ปีระกา เบญจศก ศักราช 1235” บริเวณพื้นที่ว่างปักลายช่อดอกไม้ มีการออกลายจากนมพัด มีกรอบลายเถาดอกไม้โดยรอบ การใช้สีของใบพัด มีการเน้นสีของลวดลายอ่อนกว่าพื้นหลัง ด้วยลวดลายสีแดง สีส้ม และสีเหลืองบนพื้นสีน้ำเงิน ด้ามทำจากงาช้าง นมพัดแกะสลักจากงาช้าง รูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ลวดลายเป็นรูปพานแว่นฟ้ารองพระเกี้ยว มีฉัตรขนาบทั้งสองข้าง มีกรอบลายแข้งสิงห์ เน้นสีพื้นจากสีขาวของงาช้าง
พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า พัดด้ามงาทั้งแท่งปักลายตราแผ่นดิน เนื่องจากลักษณะพิเศษของพัดนี้ คือ ด้ามและนมพัดเป็นงาตลอดด้าม และเรียกว่า พัดไอยราพต บ้าง พัดเอราวัณ บ้าง จัดเป็นพัดรองที่ระลึกลำดับแรกที่มีลวดลายสัญลักษณ์ของงานและระบุศักราช

พัดวชิราวุธ
พัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 ฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใบพัดรูปวงรีทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ ตรงกลางปักไหมสีรูป “วชิราวุธ” เครื่องหมายประจำพระองค์ประดิษฐานในซุ้มเหนือเศียรช้างไอยราพต หรือช้าง 3 เศียร ยืนบนแท่นเหนือปุยเมฆ ขนาบด้วยเทวดาถือฉัตร ด้านหลังเป็นลายเมฆมีรัศมี การจัดวางลวดลายแบบด้ายซ้ายและขวาเหมือนกัน เน้นสีลวดลายอ่อนกว่าพื้นหลัง ด้วยลวดลายสีเหลือง สีสัมเหลือง สีส้ม บนพื้นสีดำ นมพัดเป็นรูปแบบลายบัวลูกแก้ว เป็นทองเหลืองประดับมุก และแกะสลักข้อความว่า “งานบรมราชาภิเษกสมโภช ร.ศ.130” การจัดวางลวดลายแบบข้อความ เน้นสีกลมกลืนกับพื้นหลัง

พัดสามศร
พัดสามศร เป็นพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ สร้างถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์เข้ามาร่วมในพระราชพิธีจำนวน 80 รูป เป็นพัดรูปแบบวงรี พื้นเขียว ทำด้วยผ้าแพร ใจกลางพัดปักไหมเป็นภาพพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รูปพระแสงศร 3 องค์ ประกอบด้วยพระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต ภายใต้พระมหาภิชัยมงกุฎจักรี ขนาบด้วยพุ่มบังแทรก มีลายช่อกนก รอบขอบพัดปักอักษรข้อความ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บรมราชาภิเษก ๒๔๖๘ เน้นสีของลวดลายกลมกลืนกับพื้นหลัง นมพัดทำด้วยทองเหลืองรูปกลีบบัว ด้ามไม้ คอ และส้นพัดเป็นทองเหลือง
บรรณานุกรม
พัดรองงานพระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย
เดช. (2556). กรุงเทพฯ: สำนักงาน
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.
สุชีรา ผ่องใส. (2550). การศึกษาวิเคราะห์ตาลปัตรสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.
(วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต ไม่ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรุงเทพฯ.