หลากหลายแพรพรรณ

ผ้าจันทบูรลายราชวัตร

dd
ผ้าไหมจันทรบูรลายราชวัตร

เป็นผ้ายกดอก การทอยกเป็นลายตารางเล็ก ใช้ไหมเส้นยืนหลายสี สีละ ๒-๔ เส้น มาเรียงสลับกันไปตามหน้ากว้างของผืนผ้า และให้ตะกอ 4 ตะกอ ทอยกที่ละ 2 ตะกอ สลับกันไปมา จึงทำให้ผ้าเด่น มีลายยกให้เห็นทั้ง ๒ ด้าน และมีความสวยงาม เป็นผ้าที่นิยมทอไว้สำหรับตัดเสื้อ หรือทำสไบเฉียง ผ้ายกดอกจะต้องใช้ 2 สี ขึ้นไปผ้าทอเมืองจันทบูร เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมาก เคยเป็นผ้าที่เคยใช้เป็นผ้าทรงของ พระราชาธิบดี คู่ไปกับผ้าทออ่างศิลาต่อมาอาชีพทอผ้าของจันทบุรีได้เลิกไป

.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจันทบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งวิมานเมฆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าเกี่ยวกับผ้าไหมจันทบูรไว้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาศจันทบุรี ความตอนหนึ่งว่า “เราก็กินเข้าบนพลับพลานั้นแล้วแจกเสื้อสักหลาดให้กรมการสัก 15-16คน พระปลัดเขาเอาม้ามาให้ม้าหนึ่ง กับแหวนพลอยแดงทับทิมนาวงใหญ่ยอดหนึ่ง พระพิพิธภักดีเขาก็ให้เหมือนกัน แต่ย่อมกว่าของพระปลัด กับผ้าไหมสี่ผืนทอที่เมืองนี้ดูงามดีนัก” ทรงกล่าวถึงลวดลายผ้าจันทบูรและคุณภาพของผ้าว่า “ผ้าพื้น ผ้าห่อหมาก ผ้าอาบน้ำ แลแพรนุ่งนั้น พวกผู้หญิงทอที่เมืองจันทบุรี เมืองแกลง เมืองขลุง โดยมาก ใช้ด้ายเทศย้อมสีต่างๆ ทอเปนผ้าพื้นบ้าง ผ้าตาสมุกบ้าง แลผ้าราชวัตรบ้าง มีฝีมือดีกว่าที่กรุงเทพฯ แพรนุ่งนั้นใช้ไหมจีนไหมญวณทอเปนผ้าไหมบ้าง ด้ายแกมไหมบ้าง เปนแพรเนื้อดี ใช้ทนกว่าแพรเมืองจีน”


ผ้าตาสมุก

ผ้าตาสมุก

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าลายเกล็ดเต่า ลายผ้าคล้ายไม้ไผ่สาน ลายฝาขัดแตะ ทอด้วยเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหม เล่นสีเข้มและอ่อนทอสลับกัน ประมาณสีละ 10 เส้น แล้วคั่นด้วยสีเข้ม 2 เส้น ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนเต็มหน้ากว้างของผ้า เส้นพุ่งใช้กระสวย 2 อัน โดยใช้การเก็บตะกอ (เขา) เพื่อดึงเส้นใยให้สลับกันเป็นช่วงๆ เป็นด้ายสีเข้ม 1 อัน สีอ่อน 1 อัน ทอสลับกันไปประมาณสีละ 10 เส้น ก็จะใช้สีเข้มทอซ้ำเป็น 2 เส้น เรียกวิธีการทอแบบนี้ว่า ทอขัด ทำให้เกิดลายตารางคล้ายลายจักสาน



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสงขลา

ผ้าหางกระรอก

นิยมใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบน บางทีเรียกว่าผ้าม่วง พบมากในงานทอผ้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ใช้เทคนิคการทอแบบควบเส้น นำเส้นพุ่งพิเศษโดยใช้เส้นไหม หรือเส้นฝ้าย 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือ ไหมลูกลาย หรือ เส้นหางกระรอก ใช้อุปกรณ์ในการตีคือ ไน และโบก ซึ่งต้องอาศัยทักษะความชำนาญของผู้ตีเกลียวที่จะทำให้ได้เกลียวถี่ หรือเกลียวห่างตามต้องการ ส่วนเส้นไหมที่จะนำมาตีเกลียวนั้นควรเป็น เส้นไหมน้อยที่คัดเป็นพิเศษให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอกัน จากนั้นจึงนำไปเป็นเส้นพุ่งทอผ้า และผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก ครั้งหนึ่งผ้าหางกระรอกเคยเป็นผ้าประจำจังหวัดนครราชสีมา เพราะโคราชมีการทอผ้าหางกระรอกมานานกว่าร้อยปี



ผ้าทอของเกาะยอ

ผ้าเกาะยอ

เป็นผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อน ใช้ตะกอประมาณ 3-8 ตะกอ มีลายดอกราชวัตรเล็ก ลายดอกราชวัตรใหญ่ ลายลูกแก้ว ลายพิกุลเล็ก ลายพิกุลใหญ่ ลายดอกจิก ลายดอกกก เป็นต้น





ผ้ายกทองพุมเรียง

ผ้ายกทองพุมเรียง

ทอที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ลายดั้งเดิมได้แก่ ลายราชวัตรโคม ลายดอกพิกุล ลายเทพนม ลายมะลิล้อม ลายดอกแก้ว ลายดอกมะลิ ทอด้วยไหม สอดดิ้นทอง