ราชอาณาจักรไทยมีธรรมเนียมถือปฏิบัติว่า “หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จขึ้นเถลิงไอยศวรรยาปัตย์ แต่ยังมิได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก พระองค์ก็ยังไม่ได้ถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ทรงเป็นเพียงผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในฐานะพระประมุขของประเทศ...ต่อเมื่อทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงจะดำรงพระอิสริยฐานันดรนามในตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ด้วยถือว่าทรงเป็นพระราชาธิบดีของราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์แล้ว”
พิธีราชสูยะหรือพิธีขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของประเทศอินเดีย ตามคติพิธีของพราหมณ์ มีขั้นตอนที่สำคัญคือ การถวายน้ำอภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ
พระราชพิธีสูยะจะประกอบขึ้นในพระราชมณเฑียรหรือท้องพระโรงที่ตรงกลางห้องตั้งราชสีหาสน์ (เก้าอี้ที่ประทับที่ทำด้วยไม้มีพนัก มีที่วางพระกร จำหลักหัวราชสีห์ทั้ง 2 ข้าง หรือที่ขาเก้าอี้สลักรูปราชสีห์นั่งชันเข่า)
การถวายน้ำอภิเษกเมื่อได้ฤกษ์ตามที่กำหนดพระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องขาวหรือเครื่องถอด ขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนตั่ง นักบวชและผู้ทรงภูมิด้านวิทยาคม เช่น พราหมณ์ราดเนยเพื่อก่อเพลิงกองกูณฑ์ (กองเพลิง) โหรร่ายมนต์ ปุโรหิตบูชายันต์และประกาศขอพรต่อเทพเจ้า จากนั้นหัวหน้าวรรณะทั้งสี่โปรยน้ำมูรธาภิเษก (น้ำจากสถานที่อันเป็นมงคลต่างๆ) สรงองค์พระมหากษัตริย์ นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะถือว่าเป็นการชำระความไม่บริสุทธิ์ต่างๆ เพื่อเตรียมรับสิ่งที่เป็นมงคล
การกระทำสัตย์ หลังจากสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องศิราภรณ์ ได้แก่ สวมกระบังหน้า (พระมหามงกุฎ) พระภูษา ห่มผ้ารัตกัมพล เสด็จประทับบนบัลลังก์ยืนอยู่บนหนังราชสีห์ ปุโรหิตประกาศพระนามและพระมหากษัตริย์ทรงกระทำสัตย์สาบานที่จะปกครองบ้านเมืองโดยธรรม
การถวายราชสมบัติ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการกระทำสัตย์สาบานแล้ว พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ บรรดาพราหมณ์ถวายน้ำมนต์และสวดถวายพรแล้วถวายเครื่องราชสมบัติ
จากนั้นเสด็จขึ้นรถทรงแห่รอบราชมณเฑียร (ต้นแบบการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครของไทย) และเสด็จกลับขึ้นประทับยังราชสีหาสน์อีกครั้ง มีพราหมณ์ 4 คน แต่งตัวด้วยหนังกวาง ที่เรียกว่า มฤคจัมขัน เข้าไปถวายบังคม เพื่อแสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพราหมณ์เช่นกัน สันนิษฐานตรงกับการถวายสายุรำปวีต อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพราหมณ์ จากนั้นบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่และหัวหน้าวรรณะทั้งสี่ ทยอยเข้าถวายบังคมจนหมดจึงเสด็จพิธีราชสูยะ
จารึกที่มีการกล่าวถึงพิธีอภิเษกสถาปนาพระมหากษัตริย์ที่เก่าที่สุด คือ จารึกที่พบบริเวณปากแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และจารึกวัดศรีเอม กิ่งอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงเรื่องราวการอภิเษกพระเจ้าจิตรเสน แห่งรัฐเจนละ ในพุทธศตวรรษที่ 12
สมัยสุโขทัย จารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 กล่าวถึงการที่พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัย มีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และ จารึกป่ามะม่วง หลักที่ 5 กล่าวถึงพิธีอภิเษกของพระมหาธรรมราชาลิไท โดยเรียกว่า
พิธีราชาภิเษก
สมัยอยุธยา หลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชภิเษก มีกล่าวไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หมวดราชประเพณีกรุงศรีอยุธยาว่าด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นต้นแบบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ รายละเอียดและลำดับของพิธี มีดังนี้
- เครื่องราชูปโภคที่ใช้ในพระราชพิธี เช่น ตั่งไม้มะเดื่อ พระที่นั่งภัทรบิฐ
- เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ พัดวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาท
- การประกอบพระราชพิธี เช่น การเป่าสังข์ การตีกลองอินทเภรี และการประโคมเครื่องดุริยางค์
- ราชบัลลังก์ปูลาดด้วยหลังพระยาราชสีห์ ต่อมาใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณแทน
- พระสุพรรณบัฏที่จารึกอันมีการประดับการอบด้วยอัญมณี โดยประดิษฐานอยู่บนพานทอง
- การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรา
- การสมโภชพระนคร
- ทรงสร้างพระพุทธรูป เงินพดด้วง งดเว้นไม่เก็บส่วยเงินอากร 3 ปี และทรงปล่อยนักโทษ หลังเสร็จพระราชพิธี
สมัยกรุงธนบุรี สันนิษฐานว่า ทำตามแบบอย่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่กระทำพอสังเขป เพราะบ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ.2325 ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2325 แล้วในปี พ.ศ. 2326 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธานร่วมกับข้าราชการและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ผู้รู้แบบแผนเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาค้นคว้าคัมภีร์และแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อได้แบบแผนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สมบูรณ์และบ้านเมืองว่างศึกสงครามแล้ว พ.ศ. 2328 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบโบราณราชประเพณี และได้ถือเป็นแบบแผนปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีที่มีรายละเอียดแตกต่างกันตามแต่พระราชอัธยาศัย เช่น การปรับเปลี่ยนสถานที่ประกอบพระราชพิธี การเพิ่มลดเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องมุรธาภิเษก เป็นต้น
การพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีขั้นตอนของพิธี 5 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นเตรียมพิธี เป็นการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเกและน้ำสรงพระมูรธาภิเษก กับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล พิธีเบื้องต้น เป็นการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีบรมราชาภิเษก เป็นการสรงพระมูรธาภิเษก แล้วประทับพระแท่นอัฐทิศอุทุมพรรับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ พิธีเบื้องปลาย เป็นการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภพในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ แล้วเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค
นนทพร อยู่มั่งมี. (2559). พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. ศิลปวัฒนธรรม, 38(2),
78-101.
มิตรชัย กุลแสงเจริญ. (2559). พระราชพิธีอันสืบเนื่องจากพระราชพิธีบรม
ราชาภิเษก
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. วารสาร
ประวัติศาสตร์, 91-120.
แสงสุรย์ ลดาวัลย์. (2526). พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กรุงเทพ:
คณะอนุกรรมการจัดทำเอกสารภาษาไทยในคณะกรรมการ
เอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.