พระมหาเศวตฉัตรเป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด เป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว
พิธีสำคัญในวันแรกตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการลดพระมหาเศวตฉัตรลง เพื่อซ่อมแซมเปลี่ยนผ้าหุ้มใหม่ พระมหาเศวตฉัตรอันปักกางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตร และที่แขวนไว้ในพระราชมณเฑียรสถาน จะเชิญลงมาหุ้มผ้าใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาลเท่านั้น และถือเป็นธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดว่าหากยกขึ้นตั้งแล้วจะไม่ลดลงอีกเลยจนตลอดรัชกาล พระมหาเศวตฉัตรแต่ก่อนหุ้มตาด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรหุ้มด้วยผ้าขาวจึงจะต้องตามตำรา
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร “นพ” หมายถึง เก้า คำว่า “ปฎล” หมายถึง ชั้น คำว่า “เศวต” หมายถึง สีขาว และ “ฉัตร” หมายถึง ร่ม พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จึงหมายถึง ร่มขาว 9 ชั้น เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด มีที่ใช้คือปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักพระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพ เป็นต้น มีขนาดใหญ่กว่าพระกรรภิรมย์เศวตฉัตรที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ปัจจุบันมีพระมหาเศวตฉัตรอยู่จำนวน 7 องค์ อันได้แก่
- พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ณ ท้องพระโรงกลางเหนือพระที่นั่งพุดตานถม
- พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก
- พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน เหนือพระแท่นราชบัลลังก์ เบื้องหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลาฯ
- พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ
- พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จำนวน 2 องค์ คือ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ และเหนือพระแท่นเครื่องพระสำอาง
- พระที่นั่งอนันตสมาคม ณ ท้องพระโรงกลางเหนือพระแท่นราชบัลลังก์
การถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีหลักฐานชัดเจนในหมายรับสั่งพระราชพิธีปราบดาภิเษกรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171 (พ.ศ.2352) มีการกล่าวถึง “พระเศวตฉัตร” ที่เชิญตั้งบนพระแท่นมณฑล และการถวาย “พระบวรเศวตฉัตร” หรือ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2394
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียกว่า “พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร” บางแห่งเรียกว่า “เศวตฉัตรพระกรรภิรมย์” เป็นฉัตรขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้นขลิบทองเช่นเดียวกับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แต่ปรับลดขนาดพร้อมทรวดทรงให้ย่อมกว่ามากเพื่อให้สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เชิญผูกไว้กับเสาพระแท่นมณฑล โดยหุบไว้มิได้กางออกเหมือนเช่นฉัตรอื่นๆ และคงเป็นเช่นนั้นเมื่อทูลเกล้าฯ ถวาย
การถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กระทำเป็นลำดับสุดท้ายหลังการเฉลิมพระปรมาภิไธยและกราบบังคมทูลถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ เครื่องบรมขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ มีพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวายขณะประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรเปลี่ยนเป็นขณะประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แทน พระที่นั่งภัทรบิฐจึงกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแทนสัปตปฎลเศวตฉัตรนับแต่นั้น
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระมหาเศวตฉัตร” รายการ
จดหมายเหตุกรุงศรี ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560
https://www.youtube.com/watch?v=vPKTC7pOKxs
“นพปฎลมหาเศวตฉัตร” ฉัตรสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ สืบค้นเมื่อวันที่
3 สิงหาคม 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/special-
stories/news_53147
พิชญา สุ่มจินดา (2560). พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องสูงประกอบพระบรม
ราชอิสริยยศ ตอนที่ 1 สบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 จาก
https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_11476
พิชญา สุ่มจินดา (2560). พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ตอนจบ) สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 จาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and- culture/article_11500