สมัยโบราณ กลุ่มสีของไทยที่ปรากฎในงานจิตรกรรมมีแม่สี ถึง 5 สี รวมเรียกหมู่สีนี้ว่า “กลุ่มสีเบญจรงค์” ประกอบไปด้วย สีดำ สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีคราม แต่ละสีสามารถนำมาผสมให้ได้สีสันที่สวยงามได้เพิ่มขึ้นอีก 10 สี ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ตามงานศิลปะแบบไทย เช่น งานภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานศิลป์ของช่างสิบหมู่ ปัจจุบันสีไทยโทนมีถึง 168 เฉด และยังมีชื่อเรียกที่น่าสนใจไม่น้อย โดยชื่อสีไทยส่วนใหญ่นั้นมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงสกัดจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเปลือกไม้ แร่ธาตุ พืช หรือเกิดจากการเทียบสีกับธรรมชาติ เพื่อให้คนจินตนาการและนึกภาพออก ส่วนใหญ่นำไปเทียบกับต้นไม้ไทย ดอกไม้ไทย วัตถุไทย
การทอผ้าที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย หรือที่เรียกว่า ผ้าหาดเสี้ยว สีย้อมผ้าที่ทำจากพืชพรรณวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ สีคราม ได้จากต้นคราม สีแดงทำจากขี้ครั่ง ดอกคำฝอย แก่นฝาง รากยอ สีเหลือง ทำจากขมิ้น แก่นขนุน แก่นเข สีดำ ได้จากเม็ดมะเกลือ ใบหญ้างวงช้าง ผลตะโกนา ผลกระบก ผลคนทา และเปลือกเงาะโรงเรียน สีม่วง ทำมาจากผลหว้า ผลมะหวด และเปลือกมังคุด สีน้ำตาลจากผลหมาก
สีที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นหาดเสี้ยว ตัวซิ่นสีเขียวหรือแดง สีเขียวสมัยโบราณได้จากการชุบผ้าลงในส่วนผสมของสีเหลืองซึ่งมักจะได้จากขมิ้น และสีคราม ทำให้เกิดสีเขียวหรือสีน้ำทะเล สีเขียวบนตัวซิ่นนี้เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นผ้าศรีสัชนาลัย ตีนซิ่นจะใช้ผ้าพื้นสีแดงหรือดำ ส่วนลายจก มีสีเหลืองเป็นเอกลักษณ์และสีอื่นประกอบ เช่น แดง เขียว สีซิ่นตีนจกของหาดเสี้ยว แตกต่างจากของที่อื่นคือ ใช้สีตัดกันอย่างสดใส