ท้าวแสนปม
ชายแปลกปอน สู่ เจ้าเมืองเทพนคร
ท้าวแสนปม เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ นิทานพื้นบ้านที่เล่าแบบปากต่อปากของชาวเมืองกำแพงเพชร ตำนานต้นกำเนิดพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้ภูมิประเทศของจังหวัด ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายแสนปม ชายเข็ญใจที่มีปุ่มปมขึ้นทั่วร่างกาย คือ เกาะขี้เหล็ก กลางลำน้ำปิง เป็นที่เล่าเรื่อง เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านไทยเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่สั่งสมสืบทอดกันต่อมาช้านาน เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ทำให้เกิดความภูมิใจในท้องถิ่น เป็นตำนานที่แสดงร่องรอยที่มาของ เมืองไตรตรึงษ์ เมืองโบราณสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร และตำนานวีรบุรษสำคัญในอดีต
ท้าวแสนปม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2561 ประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
นานมาแล้วมีชายผู้หนึ่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นี้มีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะปม ตามชื่อ แสนปม แสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่งอยู่หน้ากระท่อมมีผลใหญ่มากเพราะแสนปมปัสสาวะรดทุกวัน วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงษ์เสด็จประพาสที่เกาะปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือก็นึกอยากเสวย จึงรับสั่งให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือไปไม่นานก็ทรงครรภ์ เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ นอกจากเสวยมะเขือของแสนปม ต่อมาพระราชธิดาทรงมีประสูติกาลเป็นพระโอรสเมื่อเจริญวัยเจ้าเมืองจึงรับสั่งให้เสนาป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคนมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส ว่าถ้าผู้ใดเป็นบิดาขอให้พระราชโอรสคลานเข้าไปหา บรรดาผู้ชายทุกคนยกเว้นแสนปมคนเดียว ต่างพากันมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานเข้าไปหาใครเลย จึงให้เสนาไปตามนายแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทายในครั้งนี้ให้มาเข้าเฝ้า นายแสนปมถือข้าวเย็นมา 1 ก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐานและยื่นก้อนข้าวเย็นให้พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา เจ้าเมืองจึงยกราชธิดาให้แก่แสนปมและให้กลับไปอยู่ที่เกาะปม วันหนึ่งแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น แต่ทอดแหครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นจนเต็มลำเรือ เมื่อกลับมาถึงบ้าน ขมิ้นก็กลายเป็นทองคำ แสนปมจึงนำทองคำไปทำเป็นเปลให้ลูก และตั้งชื่อลูกว่า อู่ทอง
ทุกวันนายแสนปมจะต้องไปถางไร่ วันหนึ่งแสนปมไปถึงไร่พบว่าต้นไม้ที่ถางไว้ ขึ้นงดงามตามเดิม จึงถางลองถางใหม่ และวันรุ่งขึ้นก็งามเหมือนเดิมอีก นายแสนปมจึงแอบดู ได้เห็นลิงตัวหนึ่งเดินตีกลองออกมาจากป่า ต้นไม้ก็กลับขึ้นงอกงามเหมือนเดิม เมื่อกลับมาถึงบ้านได้เล่าให้พระราชธิดาฟัง และลองตีกลองให้ดูพระราชธิดาจึงเชื่อ จากนั้นนายแสนปมจึงได้ตีกลองเนรมิตเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองเทพนคร และได้ตั้วตัวเป็นเจ้าเมือง ชื่อ ท้าวแสนปม ส่วนบุตรชายชื่อว่า ท้าวอู่ทอง กล่าวกันว่า ท้าวอู่ทององค์นี้ก็คือ ท้าวอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องท้าวแสนปม ทรงนำเค้าโครงมาจากการแสดง “ตำนานเมืองอู่ทอง” ที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา โดยทรงปรับแก้ความบางส่วนให้มีความสมจริงและเป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ และความเป็นมาของตัวละคร เช่น ในบทพระราชนิพนธ์มีการกล่าวถึงความเป็นมาว่า นายแสนปมนั้นแท้จริงแล้วเป็นพระโอรสของเจ้านครศรีวิไชยที่แปลงตัวมาเพื่อลอบชมโฉมพระธิดาของเจ้านครไตรตรึงษ์ และในบทละครได้เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยให้ทั้งพระธิดาและนายแสนปมนั้นเคยพบเจอกันมาก่อนจนเกิดใจปฏิพัทธ์ต่อกันและได้ลักลอบพบกันเป็นประจำ และการกล่าวถึงกลองวิเศษ “อินทเภรี” ในฐานะที่เป็นกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณในการรบ ซึ่งนายแสนปมนั้นใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการทำอุบายเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2513). บทละคอนพูดคำฉันท์
เรื่องมัทนะพาธาและบทละคอนเรื่องท้าวแสนปม. กรุงเทพฯ :
ศิลปาบรรณาคาร.
พร่างพนานต์ ช่วงพิทักษ์. (2561). ท้าวแสนปม : จากปมตำนานสู่ปม
ประวัติศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นจาก https://www.silpa-
mag.com/culture/article_17610
ท้าวแสนปม ตำนานนครไตรตรึงษ์. วัฒนธรรม. สืบค้นจาก
http://article.culture.go.th/index.php
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 38 เรื่องที่ 9 โรคพันธุกรรมในเด็ก
สืบสานภูมิปัญญาไทย. (2561). วัฒนธรรม, 57(3), 4-19.